นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าจะมีการพิจารณาหลายเรื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้มาก กระทรวงการคลังจึงพยายามเข้าไปดูแล ปัจจุบันมีหลายมาตรการที่เข้าช่วยเหลือ อาทิ มาตรการพักการชำระหนี้ ยืดหรือขยายเวลาการชำระหนี้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ก็เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อาทิ ธนาคารออมสิน ออกโครงการมีที่มีเงิน เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีเงินทุน ในต้นทุนราคาถูกลง ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ต่างออกมาหลายโครงการแล้ว ขณะเดียวกัน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีมาตรการช่วยเหลือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีการบังคับคดี หรือยึดทรัพย์และขายทอดตลาด กรณีที่ลูกหนี้อยู่ในขั้นการชำระหนี้ปิดบัญชีหรือกำลังไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นในการชำระหนี้มากขึ้น เช่น การขยายเวลาการชำระเป็น 30 ปี การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
“เราพยายามช่วยให้ได้มากที่สุด และมีมาตรการร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังเข้าไปร่วมในการจัดมหกรรมไกล่เลี่ยหนี้ทั่วประเทศด้วย พบว่ามีประชาชนเข้าร่วมมาตรการเยอะพอสมควร ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมาตลอด ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจะรวมเรื่องนี้เข้าไปด้วย” นายกฤษฎากล่าว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและจีน ว่าจากเป้าหมายเพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมความปลอดภัยอาหารเพื่อการนำเข้าส่งออก สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีเอซีซี) ได้มีหนังสือแจ้งประกาศอย่างเป็นทางการยกเลิกการระงับคุณสมบัติส่งออกจีนของบริษัทผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกและผลพลอยได้ไก่แช่แข็งของไทยเพิ่มอีกจำนวน 5 แห่ง เนื่องจากจีนเชื่อมั่นในระบบบริหารจัดการด้านคุณภาพมาตรฐาน และมาตรการควบคุมป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในกระบวนผลิตสินค้าปศุสัตว์ จากข่าวดีดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกและผลพลอยได้ไก่แช่แข็งของไทยส่งสินค้าไปจีนได้รวม 20 แห่ง