กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยด้านชีวภาพ ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Biosafety Network Establishment) เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการสาธารณสุขอาเซียนให้เป็น ไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสากล และพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้มีความพร้อมรับสถานการณ์โรค ที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับโลก เช่น โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เมอร์ส-โควี ไวรัส และ เชื้อแอนแทรกซ์ เป็นต้น
ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะผู้นำทางห้องปฏิบัติการในภาคพื้นอาเซียนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จึงได้ดำเนินโครงการ“Biosafety engineering and control for health laboratories in ASEAN” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการสาธารณสุขอาเซียนให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสากล และพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์โรคที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่กระจายได้เป็นวงกว้างโดยเฉพาะโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสุขภาพ ที่สำคัญในระดับโลก เช่น โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เมอร์ส-โควี ไวรัส และเชื้อแอนแทรกซ์ เป็นต้น
นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Global Partnership Program ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพหลักในวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัย ทางชีวภาพ (Prevent 3- Biosafety and Biosecurity) โดยมีกิจกรรมการจัดประชุมและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน จะจัดขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่ การประชุมเพื่อจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยด้านชีวภาพในอาเซียน (ASEAN Biosafety Network Establishment) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2560 การอบรมเรื่อง “Introduction course for Biological Safety Cabinet technology” จะจัดการอบรมในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 และการอบรมเรื่อง “An intermediate course on Biological Safety Cabinet certification” เดือนตุลาคม 2560
สำหรับการประชุมเพื่อจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยด้านชีวภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Biosafety Network Establishment) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยซึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ให้มีการพัฒนาด้านห้องปฏิบัติการและร่วมมือเป็นเครือข่ายการดำเนินการด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ เป็นเวทีในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่พบในการดำเนินการด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพของแต่ละประเทศเพื่อช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ และเป็นเวทีสำหรับการแสวงหาความร่วมมือกันทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันหรือองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก ซึ่งในการประชุมนี้จะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า จำนวน 17 ท่าน และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิเช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นต้น มาเข้าร่วมด้วยเพื่อพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทั้งด้านความปลอดภัยและความมั่นคงเพื่อรองรับการระบาดของเชื้อโรคและเชื้อที่สามารถนำไปใช้ในการก่อการร้ายที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต