ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ร.ฟ.ท. ทำตู้รถไฟเองนำร่อง25ที่นั่งเริ่มใช้ปี2566
27 ก.ค. 2565

นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จัดทำโครงการวิจัยรถไฟไทยทำ หรือการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ (Local Content) และลดนำเข้าเทคโนโลยี โดยใช้งบประมาณในการวิจัยตัวรถ รวมแคร่ และงานระบบ ประมาณ 32 ล้านบาท ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 25 ล้านบาท และบริษัท กิจการร่วมค้าไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด 7 ล้านบาท

นายศิริพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบดังกล่าว เป็นการพัฒนาตู้รถไฟโดยสาร 25 ที่นั่ง โดยได้นำโมเดลการให้บริการของ First Class และ Business Class ของสายการบินมาเป็นต้นแบบ ประกอบด้วย Super Luxury Class จำนวน 8 ที่นั่ง และ Luxury Class จำนวน 17 ที่นั่ง คาดว่าการพัฒนารถไฟโดยสารฯ ครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 66 จากนั้นจะทำการทดสอบร่วมกับ รฟท. อีกประมาณ 6 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความปลอดภัย ก่อนส่งมอบให้กับ รฟท. เพื่อนำไปให้บริการประชาชนได้ภายในปลายปี 66

นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการวิจัยฯ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การออกแบบและกำหนดคุณลักษณะ การผลิต และการทดสอบใช้งานจริง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิต โดยโครงสร้างตัวรถและองค์ประกอบหลักได้จัดทำแล้วเสร็จ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานระดับสากลแล้ว อยู่ระหว่างการผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำมาติดตั้ง ทั้งนี้ชิ้นส่วนหลักได้ดำเนินการโดยผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคณะนักวิจัยได้ทำการคำนวณออกแบบ และทดสอบ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และข้อกำหนดของ รฟท. โดยรถโดยสารต้นแบบนี้ จะสามารถนำไปทำขบวนได้กับรถไฟในริ้วขบวนของ รฟท. ได้หลากหลายรูปแบบ

นายศิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน พบว่า ปริมาณมูลค่าชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตามสำหรับชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และไม่มีผู้ประกอบการในประเทศ ได้เกิดความร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านกระบวนการออกแบบ และทดสอบร่วมกันกับนักวิจัยไทย

นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรถไฟโดยสารต้นแบบ คณะนักวิจัยยังได้ทำการสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานในตัวรถด้วย อาทิ ระบบฝังตัวอัตโนมัติในตัวรถ ระบบ Smart Infotainment ด้วยเทคโนโลยี 5G ระบบฟอกอากาศด้วย UVC เป็นต้น ทั้งนี้เบื้องต้นจากการประเมินค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ พบว่า มีราคาถูกกว่าการนำเข้าไม่น้อยกว่า 30% ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อ รฟท. และประเทศชาติอย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...