เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 18 ออกไปจนถึงวันที่ 31พฤษภาคม พ.ศ. 2565 นั้น
โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กลับมาระบาดรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากได้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งระบาดได้เร็วขึ้น และหลบหลีก ภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ประกอบกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง แม้จะเร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่ควบคุมการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายของไตรมาสที่สามของปี 2565 ประกอบกับองค์การ อนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคระบาดใหญ่ ดังนั้น
กรณีจึงยังคงมีความจำเป็นจะต้องดำรงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบบูรณาการเพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
ประกาศ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี