กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (30 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.อุบลราชธานี 104 มิลลิเมตร , ชุมพร 94 มิลลิเมตร และเพชรบุรี 72 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,117 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้นำเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ รถขนย้ายผู้ประสบภัย พร้อมเจ้าหน้าที่มาประจำและปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยทหาร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง สำรวจความเสียหาย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,080 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.82 เมตร และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในพื้นที่ตอนบนปริมาณฝนน้อยและปริมาณน้ำท่าลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเหลือ 980 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม และจะทยอยปรับลดเหลือประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองสาขาต่างๆติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่กรุงเทพมหานครเร่งตรวจแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีแนวเขื่อนกันน้ำ 88 กิโลเมตร และเป็นของเอกชน 8 จุด โดยบริเวณท่าเรือสี่พระยาเป็นจุดหนึ่งที่มีปัญหาน้ำท่วมหากมีสถานการณ์น้ำขึ้น เนื่องจากเป็นจุดฟันหลอจากทั้งหมด 23 จุด แบ่งเป็น ฝั่งพระนคร 14 จุด และฝั่งธนบุรี 9 จุด ที่น้ำอาจทะลักเข้าไปได้ จึงให้สำนักระบายน้ำวางแผนและจัดคนเฝ้าระวังแต่ละจุดทั้งกลางวันกลางคืน ควบคู่กับรีบจัดเก็บผักตบชวาที่มีอยู่จำนวนมากโดยเร็ว เพราะอาจมีปัญหากับการสัญจรของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ โดยขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเพราะยังอยู่ในความสามารถที่กรุงเทพมหานครสามารถรับได้ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที