ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กลับมาแล้ว..มหกรรมวิจัยปี 65 ระดมโชว์ผลงานเด่น
31 ก.ค. 2565

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชูผลงานวิจัยเด่นจากหิ้งสู่ห้าง ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ตอบโจทย์ BCG เสริมแกร่งอุตสาหกรรมของประเทศ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ขึ้นเป็นปีที่ 17 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ 

และเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงเชื่อมโยงการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการนำงานวิจัยไปใช้พัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม

“วช. ให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิตประจำวัน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจด้วยฝีมือคนไทย” วิภารัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ งานมหกรรมแห่งชาติได้จัดขึ้นในวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ทางกรุงเทพธุรกิจจึงได้นำผลงานตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รับรางวัลและการสนับสนุนจากวช.มาแสดงไว้ดังนี้ 

  • นวัตกรรมจากถังขยะอัจฉริยะสู่ผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกรีไซเคิล 

รศ.ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว เผยว่า ปัญหาการตกค้างขยะในทะเล ( marine debris) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ-สิ่งมีชีวิต และการตกค้างของไมโครพลาสติกในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสัตว์เศรษฐกิจ สามารถส่งผลสะท้อนกลับมายังมนุษย์ในที่สุด นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ 

แนวทางการแก้ปัญหาพลาสติกตกค้างจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการกันทุกภาคส่วน โดยการพัฒนานำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมคัดแยกขยะอย่างมีระบบ ทางทีมงานวิจัยจึงได้ช่วยกันประดิษฐ์คิดค้น “ถังขยะอัจฉริยะแบบปัญญาประดิษฐ์ รถกวาดขยะชายหาด และเรือเก็บขยะในทะเลไร้คนขับ

จากนั้นนำขยะที่รวบรวมได้จากบริเวณชายหาด เข้าสู่กระบวนการกรรมวิธีเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างอๆ เช่น นำมาผสมกับคอนกรีตเพื่อทำเป็นอิฐตัวหนอนปูพื้นและขอบถนนคอนกรีต ซึ่งมีความทนทาน นอกจากนี้อยังนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเก้าอี้และกระถางต้นไม้ 

เป้าหมายสำคัญก็เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรเชิงพื้นที่ ให้บรรลุเป้าหมาย zero plastic waste

ปัจจุบันนำถังแยกอัจฉริยะแบบปัญญาประดิษฐ์ติดตั้งใช้งานที่ เทศบาลเมืองแสนสุขและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งหากผลออกมาสามารถช่วยแก้ปัญหาขยะตกค้างและคัดแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะขยายผลต่อยอดนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและสร้างมูลค่าเพิ่มรวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อื่น ๆ ต่อไป 

  • นวัตกรรมตรวจจับฝุ่นละออง PM2.5 ช่วยลดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แม้ประชาชนเผชิญกับภัยคุกคามสุขภาพจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่ปัญหาฝุ่นละอองหมอกควันก็ยังเป็นปัญหาทำลายสุขภาพของประชาชนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร

สำหรับพื้นที่ทางภาคเหนือ มีรายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคปอดเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการสูดฝุ่นละอองและหมอกควันในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้ง ประกอบกับที่ผ่านมายังประสบปัญหาเรื่องข้อมูลในการเฝ้าระวังป้องกัน 

ทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้น “นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน” ระบบเซ็นเซอร์ โมเดล DustBoy ซึ่งมีรัศมีตรวจวัดสภาพอากาศได้สูงสุดถึง 10 ตารางกิโลเมตร เพื่อประเมินและรวบรวมค่าฝุ่นละอองแจ้งเตือนประชาชนให้คอยเฝ้าระมัดระวังและเตรียมแผนรับมือปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น 

ขณะนี้ได้นำไปติดตั้งในพื้นที่นำร่องเพื่อสนับสนุนงานของสถานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด อำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับมลพิษทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีการนำไปติดตั้งทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 เครื่อง อีกทั้งยังมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง 

  • โปรแกรมบริหารสมองเพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.ภัทราวดี มากมี คณบดีวิทยาลัยวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา ม.บูรพา กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีสภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น และปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่าการฝึกสมองสามารถชะลอหรือป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ ประกอบกับในสถานการณ์ COVID–19 เริ่มเกิดขึ้น จึงคิด “โปรแกรมความเป็นจริงเสมือนสำหรับการเพิ่มหน้าที่การบริหารจัดการสมองในผู้สูงอายุ” นี้ขึ้นมา

โดยออกแบบโปรแกรมความเป็นจริงเสมือนอยู่ที่บ้านตนเอง แบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ ห้องครัวเสมือนจริง ห้องนอนเสมือนจริง และสวนหย่อมเสมือนจริง สำหรับกระบวนการทำงานและลักษณะพิเศษของโปรแกรมนี้คือ เมื่อเปิดโปรแกรมเรียบร้อยแล้วให้เริ่มเลือกตัวละครผู้สูงอายุซึ่งมี 8 ตัวแบ่งเป็นเพศชาย 4 ตัวและเพศหญิง 4 ตัว

มีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายแตกต่างกัน เลือกกิจกรรมเหมือนอยู่บ้าน มี 3 กิจกรรม คือ ห้องครัวเสมือนจริง (Virtual Reality Kitchen) ห้องนอนเสมือนจริง (Virtual Reality Bedroom) สวนหย่อมเสมือนจริง (Virtual Reality Garden) องค์ประกอบของกิจกรรมสำหรับสร้างสถานการณ์จำลองสภาพแวดล้อมความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) ที่เป็นสถานการณ์ใกล้ตัว โดยเป็นกิจกรรมที่อยู่บ้าน และกิจกรรมการเล่น 

ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะมีองค์ประกอบเพื่อพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมอง (Executive Functions) ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการวางแผน คิดยืดหยุ่น การมุ่งเน้นความสนใจ และการยับยั้งพฤติกรรม และกิจกรรมสามารถที่จะวัดผลและประเมินผล ผลการพัฒนาหน้าที่การบริหารจัดการสมองได้

การวัดประสิทธิภาพผล จะพิจารณาคะแนนการเพิ่มของหน้าที่การบริหารจัดการสมองก่อนและหลังฝึกสมอง แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ความยับยั้งชั่งใจ (Inhibition) การปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Updating) และการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Shifting) ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยใช้โปรแกรม PEBL กิจกรรมทดสอบ (task) ย่อยในการวัด 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...