MEA ปักธงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2566 – 2580 ตั้งเป้าหมายพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับ Renewable Energy และ EV สร้างความยั่งยืนขององค์กร มุ่งสู่การเป็น Green Organization พร้อมนำร่องระบบ Smart Metro Grid ควบคุมพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง พัฒนางานบริการสู่ระบบ Fully Digital Service อำนวยความสะดวกประชาชนด้วยนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งยาวนาน ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 64 ปี MEA มีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศในการสร้างความมั่นคง เพียงพอด้านระบบไฟฟ้าด้วยการนำนวัตกรรมทันสมัยมาใช้และมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับสังคมเมืองมหานครที่เติบโตพร้อมตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพลังงาน รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดย MEA ได้กำหนดทิศทางเป้าหมายขององค์กร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
1. ระยะสั้น ปี 2566 - 2568 Strengthen Smart Energy มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อรองรับการเริ่มเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารองรับ Renewable Energy และ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกระดับการให้บริการที่เป็น Digital service พร้อมสร้างความยั่งยืนขององค์กรตามแนวทาง Global Reporting Initiative (GRI) ที่สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ
2. ระยะกลาง ปี 2569 - 2570 Smart Utility นั้น MEA จะมุ่งสู่การให้บริการแบบ Convergence : เชื่อมต่อบริการกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการไฟฟ้า จัดตั้ง Trader Unit และพัฒนา Virtual Utility เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า เสริมสร้างพนักงานให้มีขีดความสามารถหลากหลาย รองรับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งมุ่งสู่การเป็น Green Organization
3. ระยะยาว ปี 2571 - 2580 Sustainable Energy Utility มุ่งสู่การให้บริการในรูปแบบ Co-Creation Service เพื่อให้ลูกค้าสามารถดีไซน์รูปแบบบริการของตนเอง เป็นองค์กรต้นแบบด้านนวัตกรรม (Organization of Innovation) สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนจากการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการจัดตั้งบริษัทในเครือ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็น International Cooperation on Energy Business
ทั้งนี้ ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ในด้านสถิติการจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ในปี 2565 รวมทุกกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มราชการ-องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมจำนวน 4,165,131 ราย พบว่า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม จำนวน 50,280 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 49,050 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 โดยจากสถิตินี้ พบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจ มีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ จำนวน 19,174 ล้านหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (จำนวน 18,347 ล้านหน่วย) จะคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.51 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นของผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา
โดยปัจจุบันได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ในพื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษกมีการติดตั้ง Smart Meter จำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ผ่านระบบ Online รวมถึงสามารถประมวลผลวิเคราะห์เพื่อการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังประกอบด้วยการติดตั้งระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง (Two-Way Communication) มีคุณสมบัติในการ Monitor และแสดงผลได้ทันที (Real-Time) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าในการบริหารจัดการด้านพลังงาน และเป็นเครื่องมือสนับสนุน การวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไข ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น
ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ปี 2565 เป็นวาระครบรอบ 10 ปี ที่ MEA ได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน MEA ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการชาร์จ และการเข้าถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการส่งมอบ และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ล่าสุด MEA ได้ดำเนินโครงการ "มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน." ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
“ สถานีชาร์รถอีวีในส่วนของ MEA ปีนี้วางเป้าหมาย 100 หัวจ่ายและจะเพิ่มเป็น 500 หัวจ่ายในปี 2569 ขณะเดียวกัน 3 การไฟฟ้าอยู่ระหว่างหารือเพื่อทำรายละเอียดในการวางเป้าหมายไปสู่การปรับแอพพลิเคชั่นบริการรถอีวีที่จะเข้ามาชาร์จไฟฟ้าให้เหลือเพียงแอพพลิเคชั่นเดียวเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้บริการซึ่งเราคาดว่าจะเห็นสินปีนี้”ผู้ว่า MEA กล่าว
สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่ง MEA ได้ดำเนินโครงการรวมระยะทางทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 โดยปัจจุบัน มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่โครงการนนทรี รวมถึงบางส่วนของถนน สายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และสว่างอารมณ์ เป็นต้น ในส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีจำนวนทั้งสิ้น 174.1 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลด ความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ MEA ยังมีแผนจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ปี 2565 จำนวน 450 กิโลเมตร ที่บูรณาการร่วมกับ กสทช. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก และร่วมประสานงานผู้ประกอบการสายสื่อสารเพื่อรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งาน พร้อมปรับปรุงสายสื่อสารที่คงอยู่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามมาตรฐานที่ MEA กำหนด โดย MEA รับผิดชอบในการติดตั้งคอนเหล็กสำหรับพาดสายสื่อสาร เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ ปลอดภัย สะดวก ต่อการบันทึกข้อมูลผู้พาดสาย และช่วยให้สามารถตรวจสอบผู้ลักลอบมาพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ง่ายมากขึ้น โดยขณะนี้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 72 กิโลเมตร ขณะที่แผนงานในอนาคต จะดำเนินการทั้งสิ้นรวม 1,500 กิโลเมตร ภายในปี 2567
MEA ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริการทั้งหมด ให้เป็น Fully Digital Service ภายในปี 2568 โดยในปัจจุบัน MEA ได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบ e-Service ในทุกช่องทาง ตั้งแต่ MEA Smart Life Application จะเพิ่มฟังก์ชันการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับบริเวณกว้างให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับรู้ในรูปแบบรายบุคคล โดยการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM ที่ MEA ใช้สั่งการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS เพื่อระบุขอบเขตพื้นที่ไฟฟ้าดับ ทำให้ลดภาระการติดต่อสอบถามผ่าน MEA Call Center 1130 ได้ รวมถึงการเตรียมพร้อมฟังก์ชันรองรับ Smart Meter ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในรูปแบบ Real-Time
นอกจากนี้ยังมีโครงการ Virtual District รองรับระบบบริการผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น รองรับการยืนยัน-ตัวตนออนไลน์ การรับและจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาระบบจ่ายงาน บันทึกผลการปฏิบัติงาน อนุมัติงานในระบบออนไลน์ผ่าน Smart Devices และจะมีการปรับปรุงช่องทาง MEASY เป็นศูนย์รับบริการให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในจุดเดียว รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงช่องทาง MEA Line Connect กับการฟังก์ชันการทำงานของ MEA Smart Life Application และ MEASY เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการของ MEA ได้ง่ายยิ่งขึ้น