นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 และนายยุทธเขตต์ ยินดีทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และสรุปผลการดำเนินงาน
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าว มีลักษณะเป็นคอขวด สามารถระบายน้ำได้เพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ประกอบกับคลองบางหลวงและคลองบางบาล มีขีดความสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน้อย ได้เพียง 530 ลบ.ม/วินาที รวมปริมาณน้ำที่สามารถระบายได้ประมาณ 1,730 ลบ.ม/วินาที ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 2,800 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนริมตลิ่งและพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นประจำ การขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทร จึงเป็นการช่วยลดผลกระทบจากน้ำหลากและน้ำท่วมขังบริเวณเกาะเมืองอยุธยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ประกอบไปด้วย การขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จากบริเวณ อำเภอบางบาล – อำเภอบางไทร มีความยาวประมาณ 22.50 กิโลเมตร การก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง การก่อสร้างอาคารบังคับน้ำประเภทประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลาก 11 แห่ง อาคารประกอบคลองระบายน้ำ 37 แห่ง กำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาความยาว 4.15 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2569 เมื่อโครงการฯแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการระบายน้ำจากเดิม 1,730 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,930 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาอุทกภัยตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเฉลี่ย 1.9 – 2.5 ล้านไร่/ปี เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมกว่า 229,138 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภค-บริโภค 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้เร่งรัดการดำเนินงานแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อให้โครงการขุดคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างประโยชน์ให้ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างยั่งยืนต่อไป