นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ยืนยันเดินหน้าเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุม หรือ “โซนนิ่ง” ตามเมืองท่องเที่ยวหลัก ถึงเวลา 04.00 น. จากปัจจุบันเปิดให้บริการได้ถึง 02.00 น. แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวก็ตาม โดยขอย้ำว่าไม่ใช่การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงแบบสะเปะสะปะไปในทุกพื้นที่
ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวยังสอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มทานมื้อค่ำเวลาประมาณ 22.00 น. กว่าจะทานเสร็จและเริ่มดื่มก็ตอนเที่ยงคืนกว่า พอเริ่มสนุก ก็ถึงเวลาปิดสถานบันเทิงแล้ว ทั้งที่ยังอยากกินดื่มต่อ จึงไม่ตอบความต้องการของนักท่องเที่ยวนัก
หากดูในต่างประเทศ จะเห็นว่ามีสถานบันเทิงเปิดให้บริการนานกว่า 02.00 น. ยกตัวอย่างคนไทยเอง เมื่อออกไปเที่ยวต่างประเทศก็อยากเที่ยวให้เต็มที่มากที่สุดเช่นกัน จึงไม่อยากให้กังวลกับแนวคิดนี้ และอยากสื่อถึงทุกคน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ที่ออกมาต่อต้าน ว่าแม้สถานบันเทิงจะปิดตามกำหนด คนก็ซื้อไปนั่งดื่มต่ออยู่ดี บางคนอาจไปนั่งดื่มตามมุมที่ยากต่อการสอดส่องดูแล อาจเกิดเหตุอาชญากรรมได้ แต่หากมีการกำหนดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง เชื่อมั่นว่าจะสามารถรับประกันความปลอดภัยจากอาชญากรรมได้ 70-80%
“ถ้าเราไม่มีการจัดโซนนิ่งและการบริหารจัดการที่ดีพอ อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก เหมือนกรณีไฟไหม้ผับใหญ่ครั้งล่าสุด แต่ถ้าเราจัดโซนนิ่งดี มีการป้องกันที่ดี เหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้เชื่อว่าการจัดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะเมื่อเกินเวลาปิดให้บริการตามกฎหมาย ผู้ประกอบการบางรายก็แอบเปิดอยู่ดี สำหรับบางสถานที่ การแอบเปิดก็คือการล็อกประตูทั้งหมด ลูกค้าไม่สามารถออกมาได้ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ถ้ามีการอนุญาตให้เปิดถึงเวลา 04.00 น. ทุกสิ่งทุกอย่างโปร่งใส ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้น และเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ก็สามารถอพยพนักท่องเที่ยวได้ทันและปลอดภัย
“การจัดโซนนิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้พื้นฐานสำคัญคือต้องไม่รบกวนชาวบ้าน มีการป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ เพราะฉะนั้นเราควรจะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องถูกต้อง เพื่อเซฟชีวิตนักท่องเที่ยว แม้ว่าแนวคิดการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงดังกล่าว ใครจะต่อว่าผม ผมรับได้ เพราะตัวเองกำลังพูดความจริง พูดถึงพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการสถานบันเทิงจริงๆ โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะพยายามผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2565”
สำหรับ การนำร่องโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำการศึกษาพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวจำนวนมาก อาทิ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ, ถนนบางลา หาดป่าตอง ภูเก็ต, วอล์คกิ้ง สตรีท พัทยา, อ่าวนาง กระบี่, เขาหลัก พังงา, หัวหิน, สมุย และเชียงใหม่
โดยได้แจ้งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ฟอร์มทีมเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าต้องการจัดโซนนิ่งพื้นที่ไหน และต้องไม่รบกวนคนในชุมชน ถ้าชุมชนเห็นด้วย เพราะสามารถค้าขายได้ประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะช่วยผลักดันอีกชั้น ด้วยการหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดล็อกให้สามารถเปิดโซนนิ่งได้ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณา รวมถึงขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสั่งการให้กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความปลอดภัยในโซนนิ่งนั้นๆ
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พรุ่งนี้ (12 ส.ค.) จะลงพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจการจัดงานฟูลมูนว่าถูกต้องตามกฎหมายขนาดไหน เพราะข้อกำหนดในการจัดงานมีความชัดเจนเรื่องการจัดโซนนิ่งงานฟูลมูนและฮาล์ฟมูนซึ่งใช้สถานที่กันคนละหาด และไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้ๆ
“และจากการที่ลือกันว่ามีการขายกัญชาเต็มชายหาด ผมก็อยากจะไปดูว่าเป็นเรื่องจริงอย่างที่พูดหรือร้องเรียนเข้ามาหรือไม่ โดยถ้าใครจะขาย ก็ต้องมีการขออนุญาต และอย่าทำให้ชาวบ้านรู้สึกรำคาญ เช่น เรื่องกลิ่นของกัญชา ที่บางคนอาจจะแพ้”