อย่าประมาทกราดอย่าตก!! สสจ.กาญจน์ เตรียมรับองคมนตรีลงพื้นที่ ส่วน สคร. เขต 5 ราชบุรี แนะประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ป้องกันฝีดาษวานรและโควิด-19
วันที่ 11 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการตรวจเยี่ยมของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และคณะ ในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลที่มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลให้การสนับสนุน ปี 2565 ในวันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนที่ห้องประชุมอาคารหลวงปู่หลิว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายวิสิทธิ์ ปิ่นประชานันท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานแลกเปลี่ยนเรียนรู้และคัดเลือกตำบลต้นแบบฯ ดีเด่นระดับจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน พัฒนาของแต่ละพื้นที่ ในแต่ละอำเภอ และประกอบกับระดับประเทศมีการประกวดคัดเลือกตำบลจัดการสุขภาพชีวิตดีเด่น จึงถือโอกาสนี้คัดเลือกตำบลจัดการคุณภาพชีวิตดีเด่นระดับจังหวัดไปด้วย เพื่อเป็นตัวแทนเข้าคัดเลือกระดับเขต ภาคและประเทต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนระดับอำเภอ ระดับตำบล และทีมงาน แกนนำการขับเคลื่อนตำบลจัดการคุณภาพชีวิต ผู้นำชุมชนทั้งท้องที่ ท้องถิ่น และอสม. รวมทั้งสิ้น 130 คน และได้รับการสนับสนุนผู้ให้ข้อเสนอแนะจากศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคกลาง
สำหรับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์และแนะแนวทางการป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด พบผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆกับผู้ป่วย และเป็นโรคที่หายได้เอง การมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เคร่งครัดช่วยลดความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อทั้งโรคฝีดาษวานร และโควิด 19 ได้
แพทย์หญิงรพีพรรณ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และสัญชาติไทย 2 ราย จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น หน้าแนบหน้า ด้านการป้องกันควบคุมโรค องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ แล้วแต่ยังต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษ ไปแล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณปลายเดือนหลังสิงหาคม 2565 โดยกลุ่มเป้าหมายของวัคซีนป้องกัน โรคฝีดาษวานรที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย จะต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค การระมัดระวังผลข้างเคียงต่างๆ การพิจารณาจากสถานการณ์การระบาด ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือแล้วและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้ กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วันซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
แพทย์หญิงรพีพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขออแนะนำประชาชนว่าวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการป้องกันโรค ไม่มีวัคซีนใดที่จะสามารถป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วัคซีนมีหน้าที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เคร่งครัด ซึ่งจะลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อทั้งโรคฝีดาษวานร และโควิด 19 เน้นย้ำการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า คนที่ไม่รู้ประวัติหรืออาการป่วยมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเป็นต้น หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเอง มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ทีมข่าวกาญจนบุรี