นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค.ที่ผ่านมา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนัก บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างจำนวนมาก และจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “พายุดีเปรสชันมู่หลาน” ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยช่วงวันที่ 11-13 ส.ค. 65 ส่งผลทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ
จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราประมาณ 1,100-1,400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ส่วนที่แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตราประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที และลำน้ำสาขา อัตราประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400-1,600 ลบ.ม./วินาที กรมชลฯ มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100-1,400 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20-0.60 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งนี้หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่ หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทาน.