นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การผลิตและการบริโภคถั่วหลือง ในปี 2555-2564 การผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีพืชแข่งขันอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และคาดว่าปริมาณความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นอีกในปีต่อไป
รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมการผลิตถั่วเหลือง ในประเทศและให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศร่วมกัน โดยศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ทำการคัดเลือกลูกผสมสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรดี ให้ผลผลิตดี เข้าประเมินผลผลิตตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ การเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน และการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร โดยใช้พันธุ์มาตรฐานเชียงใหม่ 60 และเชียงใหม่ 6 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ และไร่เกษตรกรแหล่งปลูกถั่วเหลือง จนได้ถั่วเหลืองสายพันธุ์ CM0701-24 ซึ่งได้มาจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พื้นเมือง TG68 ที่มีฝักดก และพันธุ์ PK7386 ที่ให้ผลผลิตสูง ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช
กรมวิชาการเกษตร ให้ถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่ กวก. เชียงใหม่ 7 เป็นพันธุ์แนะนำที่มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 304 กิโลกรัม/ไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย ขอนแก่น และเลย และในฤดูฝน จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ได้ทำการขยายเมล็ดพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรในเบื้องต้น จำนวน 500 กิโลกรัม สามารถปลูกได้ในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ และจะทำการผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นในปีต่อไป ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก ถั่วเหลืองพันธุ์ “กวก. เชียงใหม่ 7 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์เดิมที่เกษตรกรกรนิยมปลูก