สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มีมติ 158 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง เห็นชอบรายงานเรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ” ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงถึงสาระสำคัญต่อที่ประชุมว่า การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ จึงมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศ และการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ที่กำหนดในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ
ทั้งนี้ นอกจากเนื้อหาการปฏิรูปการเมืองทั้ง 6 ด้าน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เคยเสนอให้ที่ประชุม สปท. เห็นชอบแล้ว ในรายงานยังมีข้อเสนอให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี โดยนายสมพงษ์ สระกวี ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ ได้ย้ำถึงเจตนาข้อเสนอนี้ เพื่อเปิดเป็นช่องทางให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้กฎหมายสูงสุดได้ปรับตัวเอง ขณะที่นายเสรี ย้ำว่าแม้จะมีข้อเสนอนี้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังคงเป็นไปตามที่มีกลไกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ประธานกรรมาธิการฯ สปท. ด้านการเมือง ได้เปิดเผยด้วยว่า ในรายงานยังมีข้อเสนอสนับสนุนแนวทางการทำสัญญาประชาคม เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ และเป็นมาตรการป้องกันความขัดแย้งในอนาคต โดยการทำสัญญาประชาคมจะต้องเป็นข้อตกลงกันระหว่างประชาชนกับรัฐเพื่อเป็นสัญญาระหว่างกัน เช่น การจงรักภักดีและรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่กระทำการใดอันเป็นความ ขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในมวลหมู่ประชาชน
ในการอภิปราย ทั้งนายเสรี สุวรรณภานนท์ , นายสมพงษ์ สระกวี และนายวันชัย สอนศิริ ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ สปท. ด้านการเมือง ได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ที่นายกรัฐมนตรีตั้งคำถามไว้
ทั้งนี้ เมื่อ สปท. เห็นชอบรายงานแล้ว ก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการ ป.ย.ป. รับทราบ รวมถึงเตรียมเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อไว้พิจารณาเป็นแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองต่อไป
ส่วนการพิจารณารายงานเรื่อง แผนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มีแนวทางการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและข้อเสนอให้จัดแบ่งประเภทมหาวิทยาลัย ที่ประชุมได้เลื่อนการพิจารณาออกไป เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ มีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาออกไปเพื่อศึกษาเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์