ผอ.สำนักฯ3 ส่งทีมสัตวแพทย์ รุดช่วยช้างป่าสลักพระ หลังพบแผลเน่าขนาดใหญ่ พร้อมทำรั้วไฟฟ้ากักพื้นที่ชั่วคราวเพื่อรักษาต่อเนื่องหวั่นติดเชื้อในกระแสเลือด
วันนี้ 16 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ตนได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระว่าพบช้างป่าได้รับบาดเจ็บ เดินอยู่ภายในสวนยางพาราของชาวบ้าน ท้องที่ หมู่ 1 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี หลังจากได้รับแจ้งตนจึง รายงานให้นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)ทราบ
ต่อมานายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สบอ.3 (บ้านโป่ง) รวมทั้งทีมสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี และผู้นำชุมชน ร่วมเดินทางไปตรวจสอบเพื่อวางแผนในการรักษา
เมื่อไปถึงพบช้างป่าตัวดังกล่าวนั้นเป็นช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 2-3 ปี มีอาการซึมและมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่บริเวณโคนหาง โดยทีมสัตวแพทย์ได้วางแผนด้วยการยิงยาซึมสำหรับช้างป่า เพื่อเข้าตรวจแผลและประเมินอาการเพื่อทำการรักษา
จากการประเมินแผลพบว่าแผลมีลักษณะแผลเน่าเรื้อรัง แผลสาหัสถึงบริเวณโคนกระดูกหาง โดยมีหนอนและแมลงวันอยู่เต็มไปหมด และนอกจากนี้ยังพบลำไส้ส่วนปลายตรงโผล่ออกมาบางส่วนอีก ดังนั้นทีมสัตวแพทย์จึงได้เริ่มทำความสะอาดด้วยการส่ยารักษาแผลภายนอก ฉีดยาฆ่าเชื้อ แบบออกฤทธิ์ได้นาน 7 วัน รวมทั้งฉีดยาลดปวด ลดการอักเสบ ฉีดยาฆ่าหนอนแมลงวัน ฉีดวิตามินบำรุงร่างกายและลดความเครียด และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก รวมทั้งให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำและใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ยังได้ทำการเจาะเก็บเลือด เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป และโรคไวรัส Herpes virus ชนิด EEHV ทางห้องปฏิบัติการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคณะสัตวแพทย์จึงทำการฉีดยาแก้ฤทธิ์ยาซึม ซึ่งช้างป่าตัวดังกล่าวฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมรั้วไฟฟ้าเอาไว้เพื่อกักบริเวณช้างป่าตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อทำการรักษาช้างตัวดังกล่าวให้ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการประเมินอาการของสัตวแพทย์พบว่าช้างป่ามีอาการของบาดแผลค่อนข้างสาหัส จึงจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะอาการของช้างมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตลง ส่วนสาเหตุบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
ทีมข่าวกาญจนบุรี