หมูเถื่อนสำแดงเท็จจากยุโรป คือปัญหาต่อเนื่องมาจาก การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASFในไทย เรื่องนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้องรัฐให้กวาดล้างเป็นระยะ และกว่า 387 ครั้งที่กรมปศุสัตว์ตรวจห้องเย็นที่มีความเสี่ยงพบซากสุกรกว่า 4.2 ล้าน กก.
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สุกรในขณะนี้ว่ามีบางอย่างผิดปกติจริง เนื่องจากปริมาณหมูที่ส่งเข้าพื้นที่ภาคเหนือมีมากเกินความเป็นจริง จากปกติจะมีหมูเข้าเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือดแล้วประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า "ซากหมู" ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน ส่งผลกระทบให้ยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30%
“มันคิดไปในทางอื่นไม่ได้เลย เพราะผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรช่วยกันเลี้ยงนี้จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปี แต่ จู่ๆ กลับมีปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหมูนำเข้าที่ผิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมู ซึ่งนอกจากจะกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่กำลังง่วนกับการเลี้ยงหมูปลอดภัยภายใต้ต้นทุนการป้องกันโรคที่สูงขึ้น ทำลายแผนการฟื้นฟูหมูไทยในระยะกลางและระยะยาวด้วย”
หมูจำนวนมากเข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวันก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาท/กก. ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง
ทั้งนี้ เกษตรกรมีการเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหมูเถื่อน หรือ หมูลักลอบนำเข้ามาโดยตลอด และกรมปศุสัตว์ก็มีการตรวจจับบ้างประปรายในจำนวนไม่มากนัก สวนทางปริมาณหมูเถื่อนที่มีอยู่จริงเป็นจำนวนมากในท้องตลาด ทุกคนทราบดีว่าหมูเถื่อนจะบรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทรนเนอร์ ระบุต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี สเปน ซึ่งสำแดงเท็จเป็นปลาและอาหารสัตว์หรืออาหารทะเล เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจโรคระบาด ASF ที่กำลังระบาดอย่างมากในยุโรป และหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์
เมื่อนำเข้ามาได้แล้วก็จะกระจายนำไปฝากห้องเย็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางขายกันเกลื่อนตลาดจนส่งผลกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตของเกษตรกรไทย
“ระดับราคาหมูเถื่อนถูกกว่าหมูไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันโรคหรือตรวจสอบย้อนกลับที่ดี ต้นทุนการผลิตหมูจึงถูกกว่า ส่วนเครื่องในเขาก็ไม่กิน การส่งมาขายที่ไทยจึงเปรียบเหมือนได้ทั้งเงินและลดขยะในบ้านเขา ที่สำคัญ หมูเถื่อนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากคนไทย ทั้งภาครัฐผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบป้องกันแต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารที่หันไปซื้อของถูกมาปรุงให้ผู้บริโภคกิน คนรับกรรมก็คือผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ตามเป้าหมาย จึงต้องขอร้องให้ภาครัฐขจัดปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจังโดยทันที” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว ตามที่ได้รับแจ้งมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจำนวนมากจากด่านชายแดนเพื่อนบ้าน โดยสำแดงเอกสารเท็จปลอมแปลงว่าเป็นรายการสินค้าชนิดอื่นนั้น ตนได้สั่งการด่วนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลการดำเนินการเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสุกรจากต่างประเทศ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการมาอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในการตรวจสอบและการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่อาจติดมากับสัตว์หรือซากสัตว์ โดยปฏิบัติภายใต้มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ภายใต้พรบ. ฉบับนี้กำหนดให้ผู้นำเข้าราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายทุกครั้ง กำหนดวิธีการขออนุญาตและออกใบอนุญาต กำหนดให้ต้องนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้า ออก หรือผ่านที่ท่าเข้า ท่าออกซึ่งมีทั้งหมด 47 แห่ง กำหนดให้ต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์สำหรับซากสัตว์สัตว์ในขั้นตอนการนำเข้า และมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ซึ่งหากประเทศต้นทางมีโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด อธิบดีกรมปศุสัตว์จะประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านจากประเทศนั้น แต่หากผู้นำเข้าสำแดงเป็นสินค้าชนิดอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของกรมปศุสัตว์ จะไม่ผ่านกระบวนการนำเข้าของกรมปศุสัตว์ จึงสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าท่าออกทุกแห่งทั่วประเทศ ประสานการเข้าตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำโครงการเข้าตรวจสอบสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศ และนำมาซุกซ่อนไว้ตามห้องเย็นต่างๆ ผล
ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการตรวจสอบห้องเย็นต้องสงสัย จำนวน 387 ครั้ง มีปริมาณซากสุกรที่ได้รับการตรวจสอบ จำนวน 42,935,925 กิโลกรัม สำหรับกรณีการเคลื่อนย้ายซากสุกรภายในประเทศ สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัด หรือ ปศุสัตว์อำเภอ ผู้ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสุกร ตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเข้มงวด โดยต้องมีต้องมีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ และสั่งการด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศเข้มงวดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายซากสุกร
นอกจากนี้ ได้จัดทำเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ที่นำเข้า เพื่อใช้ตรวจสอบซากสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าดังกล่าวได้ จึงทำให้แยกแยะกับซากสัตว์ที่ลักลอบนำเข้าได้ ง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตั้งชุดปฏิบัติงานสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ในพื้นที่สนามบินทุกแห่งเพื่อตรวจสอบผู้โดยสารที่นำซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย ปฏิบัติงานเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสุกรและซากสุกรในพื้นที่ชายแดนประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) จากต่างประเทศได้ทั่วราชอาณาจักร
สำหรับผลปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมาย 4 ปีย้อนหลังของกรมปศุสัตว์ (ปีงบฯ 2562-2565) ได้จับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าซากสุกรรวม 15 คดี ยึดทำลายซากสุกรของกลาง 112,279.785 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 21,001,301 บาท ตรวจยึดซากสุกรตามพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนและบริเวณท่าอากาศยานจำนวน 1,172 ครั้ง ยึดทำลายซากสุกรของกลาง 92,116.864 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 54,743,256 บาท โดยในปี 2565 มีการดำเนินการทางกฎหมาย 8 ราย ยึดซากสุกร 108,734 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 20,593,634 บาท ทำลาย 126,966 กิโลกรัม และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร่วมมือในการป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ทั้งทางบก ทางน้า และทางอากาศ