ปตท.กางแผน ดันธุรกิจใหม่เพิ่มกำไร สร้างกำไรเพิ่มอีก 30% ภายในปี 2030 ขยับเป้าธุรกิจพลังงานทดแทน 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ เดินหน้าซัพพายเชน EV รุกธุรกิจบียอนด์เอนเนอร์ยี่ ตั้งงบลงทุนฯ 30% ของงบลงทุนทั้งหมด "อรรพล" ชี้สอดคล้องวิสัยทัศน์บริษัทตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ตั้งเป้าว่าในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 บริษัทในกลุ่ม ปตท.จะสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้อีก 30% จากธุรกิจใหม่ที่มุ่งไปในทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ทั้งนี้ ในรอบ 6 เดือนของปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทในเครือ ปตท.มีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% โดยมียอดขายทั้งสิ้น 1.68 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนกำไรจากยอดขายประมาณ 4% ทั้งนี้เป้าหมายที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 30% ภายในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นจากกำไรในส่วนที่ทำได้อยู่ในปัจจุบัน
กลุ่ม ปตท. จึงมุ่งพัฒนา ต่อยอดธุรกิจด้วยการแสวงหานวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคต และรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่มากกว่าธุรกิจพลังงานแบบเดิมเพื่อช่วยให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และช่วย ปตท.พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก โดยแนวทางจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัท คือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หรือ “Powering Life with Future Energy and Beyond”
ประกอบไปด้วย 2 ธุรกิจหลัง คือ1. ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ประกอบไปด้วย ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมาย เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2030 ธุรกิจรถไฟฟ้า (EV) และซัพพายเชนของรถ EV ที่ดำเนินการผ่านบริษัท อรุณ พลัส จำกัด รวมทั้งธุรกิจการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) รวมทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า และพลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่อยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ
2.ธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน (Beyond Energy) ได้แก่ ธุรกิจวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Life Science) ซึ่งในส่วนนี้ ปตท.มีการลงทุนผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ที่ได้มีการดำเนินการลงทุนในธุรกิจยา ธุรกิจอาหารและโภชนการ (Nutrition) และธุรกิจเครื่องมือการแพทย์ โดยในธุรกิจยามีการลงทุนในบริษัทโลตัส ผู้ผลิตยาชั้นนำจากไต้หวันโดยการเข้าไปถือหุ้นกว่า 37%
ขณะที่ธุรกิจด้าน Nutrition ก็มีการก่อตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Innobic และ Nove Foods เพื่อผลิตอาหารประเภท Plant-based เพื่อจำหน่ายในไทยและในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น
นอกจากนั้น ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่พลังงาน ปตท.ยังมีการลงทุนต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับสินค้ามูลค่าสูง (High Value Business) เช่น การพัฒนา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI และหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง
สำหรับในส่วนของการลงทุนธุรกิจใหม่ของ ปตท.บริษัทฯ ได้มีการเตรียมเงินลงทุนตามแผนระยะ 5 ปี (2565- 2569) โดยปตท.จะใช้เงินลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วไม่น้อยกว่า 30% ของงบลงทุนทั้งหมดที่บริษัทได้ตั้งไว้รวม 1.46 แสนล้านบาท
"หากมีโครงการที่น่าสนใจ ปตท.พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม หรือใส่เงินลงทุนในโครงการที่มีการลงทุนไปแล้วมากขึ้น โดยมีวงเงินอีกส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติไว้อีกประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ที่สามารถนำไปใช้ลงทุนได้ เพื่อสนับสนุนให้การเติบโตของ ปตท.ไปสู่เป้าหมายของการมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจใหม่อีก 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้"นายอรรถพล กล่าว