วันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงแรงงาน ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 21 (กรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานโดยคณะกรรมการ มีทั้งหมด 19 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 4 คน ลูกจ้าง 5 คน ที่ปรึกษา 5 คน การลงมติจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย
เบื้องต้นพบว่า มีสัดส่วนนายจ้างลาประชุม 1 คน ทั้งนี้ ประเทศไทยว่างเว้นไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาหารือนาน 5 ชั่วโมง โดยบรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากมีการเสนอขึ้นค่าจ้าง ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดย จ.ชลบุรี กรุงเทพฯ เสนอปรับมากที่สุด คือ 360 บาท รองลงมาคือ ภูเก็ต 358 บาท ต่ำสุดเสนอปรับที่ 328 มี 8 จังหวัด
ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้กรรมการสัดส่วนนายจ้างยังยื้อเอาไว้ เพราะที่ประชุมอยากขึ้นค่าจ้างราวร้อยละ 5-8 แต่ฝ่ายนายจ้างรับไม่ไหว ต้องการขึ้นเพียง ร้อยละ 1 ในที่สุดที่ประชุมได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อยละ 5.02 เฉลี่ย 8-22 บาท ตามรายจังหวัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565
ต่อมาเวลา 15.10 น. นายบุญชอบ นำตัวแทนฝ่ายลูกจ้างแถลง ผลการประชุม โดยไม่มีตัวแทนฝ่ายนายจ้างร่วมด้วย ว่า ยืนยันว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างแม้จะมากันคนละเป้าหมาย โดยลูกจ้างอยากให้ขึ้นสูงสุด แต่นายจ้างไม่อยากจะขึ้นหรือให้ขึ้นน้อยที่สุด แต่สุดท้ายก็มีการปรับตัวเลขไล่ไปทีละจังหวัดจนหาข้อสรุปร่วมกันได้
“มีมติเอกฉันท์ ไม่มีการยกมือว่าฝ่ายไหนจะเอาเท่าไหร่ ในข้อสรุปการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 มีตั้งแต่ต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท แบ่งเป็น 9 ช่วง ค่าเฉลี่ย 337 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.02 โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) พิจารณาในสัปดาห์หน้า คือ วันที่ 30 สิงหาคม 2565 และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป” นายบุญชอบกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้เคาะแล้วอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เริ่ม 1 ตุลาคม 2565 นี้ โดย จ.ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต สูงสุด 354 บาท
กลุ่มที่ 1 ขึ้นค่าแรง 354 บาท ได้แก่ จ.ชลบุรี จาก 336 บาท ระยอง จาก 335 บาท และภูเก็ต จาก 336 บาท
กลุ่มที่ 2 ขึ้นค่าแรง 353 บาท จาก 331 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
กลุ่มที่ 3 ขึ้นค่าแรง 345 บาท ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จาก 330 บาท
กลุ่มที่ 4 ขึ้นค่าแรงเป็น 343 บาท ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา จาก 325 บาท,
กลุ่มที่ 5 ขึ้นค่าแรงเป็น 340 บาท จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี จาก 324 บาท, หนองคาย จาก 325 บาท, อุบลราชธานี จาก 325 บาท, พังงา จาก 325 บาท, กระบี่ จาก 325 บาท, ตราด จาก 325 บาท, ขอนแก่น จาก 325 บาท, เชียงใหม่ จาก 325 บาท, สุพรรณบุรี จาก 325 บาท, สงขลา จาก 325 บาท, สุราษฎร์ธานี จาก 325 บาท, นครราชสีมา จาก 325 บาท, ลพบุรี จาก 325 บาท และสระบุรี จาก 325 บาท
กลุ่มที่ 6 ขึ้นค่าแรง จาก 323 เป็น 338 บาท ได้แก่ จ.มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี และนครนายก
กลุ่มที่ 7 ขึ้นค่าแรง จาก 320 เป็น 335 บาท จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
กลุ่มที่ 8 ขึ้นค่าแรง จาก 315 บาท เป็น 332 บาท จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าจ้างที่มีการปรับเพิ่มครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 แบ่งเป็น 10 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและภูเก็ต (ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท/วัน) ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน)
ระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร (ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท/วัน) ระดับที่ 4 ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน) ระดับที่ 5 ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี (ปรับเพิ่มขึ้น 5บาท/วัน)
ระดับที่ 6 ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี (ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาท) ระดับที่ 7 ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน) ระดับที่ 8 ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงพิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/วัน)
ระดับที่ 9 ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท) และ ระดับที่ 10 ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา (ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท)