ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ผู้นำอปท.กระตุ้นท้องถิ่น ร่วมต้านคอร์รัปชัน
30 ส.ค. 2565

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ (ACT) จับมือสถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาออนไลน์ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “ผู้นำ...กับการปราบโกง” โดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวเปิดการเสวนาว่า การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ผู้นำองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญในฐานะ“คนต้นแบบ” ที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อปราบโกง ขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพร้อมสนับสนุนการตรวจสอบคอร์รัปชันผ่านแพลตฟอร์ม ACT AI ซึ่งเป็นเครื่องมือและแหล่งรวมข้อมูลให้เข้าถึงการสืบค้นข้อมูลโครงการภาครัฐได้อย่างเปิดกว้างภายใต้แนวคิด Your Tools Your Turn รวมทั้งเครื่องมือตรวจสอบโครงการในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST), การใช้กลไกข้อตกลงคุณธรรม (IP) ที่จะสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส สร้างประโยชน์กับประชาชนได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการตรวจสอบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีภาพติดตัว คือ เป็นจุดรวมแห่งการเข้ามาหาผลประโยชน์เนื่องจากมีการจับโกงได้เป็นจำนวนมากจนทำให้ภาพลักษณ์ออกมาในเชิงลบ ทั้งที่ความจริงอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพคอร์รัปชันระดับประเทศ ทั้งนี้ การที่จะปรับกระบวนการสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้ ต้องเริ่มจาก 1.ลดการผูกขาด 2.ลดการใช้ดุลพินิจ 3.การทำให้โปร่งใส และ 4.ข้อมูลที่เข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมประชาสังคมที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน มีมาตรการทางสังคมในการลงโทษและปฏิเสธคนที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชันได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้คนที่คิดจะคอร์รัปชัน ไม่กล้า รู้สึกเกรงกลัว อับอายต่อสังคม ตนเชื่อว่ามาตรการทางสังคมจะเป็นส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันร่วมกับการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคม
ในโอกาสนี้ ตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมเสวนาต่างร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างน่าสนใจ ทุกคนมุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไปก็เป็นข้อบกพร่องประการหนึ่ง อีกทั้งบางกรณียังมีความเหลื่อมล้ำต่อการแก้ไขและปราบปรามคอร์รัปชัน สังคมจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมไม่ใช่ละเว้นให้กับผู้ใหญ่ แต่ในขณะที่ผู้น้อยหรือท้องถิ่นถูกข้อระเบียบต่าง ๆ จำกัดจนเกิดความกลัวไม่กล้าคิดหรือทำงานอะไรเลย จนแยกแยะอะไรไม่ออกว่าอะไรดีหรือไม่ดี หากปล่อยไว้ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายกลายจะเป็นมะเร็งร้ายในระบบการทำงาน สำหรับในจ.ภูเก็ตนั้นตนให้ความสำคัญเรื่องโครงการภูเก็ตโปร่งใส ทำงานอย่างสุจริตเปิดเผย และร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมไปด้วยกัน
ขณะที่ นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรี ตำบลเกาะคา จ.ลำปาง ให้มุมมองต่อแนวคิดการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและการมีส่วนร่วมว่า สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องสร้างเวทีการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้ มีช่องทางให้ร้องทุกข์ มีระบบการตอบสนองต่อปัญหาเพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที สร้างความไว้วางใจให้ชุมชน เมื่อทำได้ก็จะกลายเป็นความร่วมมือร่วมกันนำไปสู่ชุมชนจัดการตนเองในที่สุด โดยผู้นำจะเป็นต้นแบบของการรับฟังเสียงประชาชน สร้างการเมืองภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ส่วน นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ระบุว่า การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญต้องเริ่มจาการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส ประชาชนได้เลือกผู้นำที่เขาต้องการเข้ามาทำงานอย่างแท้จริง และเป็นผู้นำที่รับฟังประชาชนสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เมื่อประชานมีส่วนร่วมก็จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันได้
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ แอปพลิเคชันรับร้องทุกข์ หรือไลน์ออฟฟิเชียล นับเป็นการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบทุกช่องทาง โดย “ผู้นำ”จะต้องรับฟังและแก้ไขโดยมุ่งถึงประโยชน์ของสาธารณะ อีกทั้งผู้นำยังต้องเป็นต้นแบบให้กับคนในทุกช่วงวัย ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องสร้างจิตสำนึกเรื่องของ “ปัจเจก” กับ “สาธารณะ” ตั้งแต่วัยเยาว์ ให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญในสำนึกรักบ้านเกิด รักท้องถิ่น ปกป้องท้องถิ่นตนเอง เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นเขาจะหวงแหน และ ป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันในท้องถิ่นขึ้นมาได้
ขณะเดียวกัน นายชนะนันท์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม จ.กำแพงเพชร ได้ย้ำว่า เป็นโอกาสดีเมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและสถาบันพระปกเกล้าร่วมกันกระตุ้นแนวคิดการต่อสู้กับคอร์รัปชัน เพราะไม่อยากให้สังคมรู้สึกเคยชินกับปัญหาเหล่านี้ หากเราจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ปล่อยให้สังคมรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองแล้วไม่ให้ความสำคัญ ถ้าทุกส่วนสร้างจิตสำนึกการปราบโกงได้ตั้งแต่เด็กก็จะช่วยปลูกฝังการไม่คอร์รัปชัน นำไปสู่การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับสังคมได้ต่อไป  

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...