คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. ไฟเขียวประกาศเชียงราย พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชูจุดขาย “ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สีสันแห่งล้านนา” พร้อมคลอดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี ลุยพัฒนา 270 โครงการ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบการประกาศ “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย” ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้นำเสนอ ภายใต้แนวคิดการพัฒนา “ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สีสันแห่งล้านนา” หรือ Creative Chiang Rai โดยครอบคลุม 18 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอป่าแดด อำเภอเทิง อำเภอเวียงชัย อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอพาน อำเภอแม่ลาว อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอดอยหลวง พื้นที่รวมประมาณ 11,687.4 ตารางกิโลเมตร โดยมอบหมายให้ อพท. ไปดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเชียงรายมาเสนอ ท.ท.ช. ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย เพื่อให้ อพท. เข้าไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาแหล่งและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้การบูรณาการจากทุกภาคส่วน เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านธรรมชาติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนเป็น Gateway เขตเศรษฐกิจชายแดนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน มีโครงข่ายการคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ แต่ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวยังไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน อัตลักษณ์ของล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ขาดการ บูรณาการจากแต่ละภาคส่วน เป็นผลให้มีจำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หากดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบ “พื้นที่พิเศษ” ของ อพท. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะส่งผลให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม
***องค์กรท้องถิ่นหนุนปั้นเชียงราย***
โดยข้อเสนอประกาศพื้นที่พิเศษเชียงราย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เกิดจากความต้องการของพื้นที่ที่ต้องการให้ อพท. ไปศึกษาและประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่ง อพท. ได้ไปศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ และได้แนวทางการพัฒนาภายใต้ร่างวิสัยทัศน์ “สืบสานวัฒนธรรมล้านนา สร้างคุณค่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงอาเซียน” ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและได้รับความยินยอมการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายทั้ง 144 แห่งเรียบร้อยแล้ว นับจากนี้ อพท. จะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับการจัดการการท่องเที่ยว โดยใช้เกณฑ์ GSTC มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand ผ่านแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีกลไกบริหารจัดการตนเอง เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่น และยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destination TOP-100 และGlobal Geopark ซึ่ง อพท. จะจัดทำแผนยุทธศาตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ เชียงรายเสนอ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม. ตามลำดับ
***คลอดแผนฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา***
รัฐมนตรีว่างการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ท.ท.ช. ยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อใช้ขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้มีเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria - GSTC) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน อันช่วยให้เกิดการสร้างงาน กระจายรายได้อย่างทั่วถึงทั้งพื้นที่
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเสริมว่า สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อพท. ได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์สำหรับใช้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถีเขา-โหนด-นา-เล ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ระยะ 5 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2566-2570 มีโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์รวม 270 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่ง อพท. จะได้หารือและประสานสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป