เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ หวั่น “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู” ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วประเทศ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมหมูไทยให้สำเร็จภายในปีนี้ เหตุกระทบความเชื่อมั่นผู้เลี้ยงจนชะงักการเข้าเลี้ยงหมูรอบใหม่ เร่งรัดกรมปศุสัตว์ จริงจังจริงใจแก้ปัญหา ตรวจ-จับ-ดำเนินคดีถึงที่สุด อย่าให้เนื้อหมูเถื่อนเข้ามาแย่งตลาดผู้เลี้ยงหมูไทย ซ้ำเติมทุกข์เกษตรกร และเสี่ยงนำเข้าหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อสุกรไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัวต่อวัน โดยปี 2564 มีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วจากพื้นที่อื่นของประเทศ ประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ปรากฎว่าเดือนมกราคม ปีนี้ มีซากสุกรที่เชือดแล้วเข้ามาในพื้นที่มากถึง 8 ล้านกิโลกรัม ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลงประมาณ 30-50% เกษตรกรต้องเลี้ยงสุกรต่อไปทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว
“วันนี้แม้ผู้เลี้ยงเริ่มกลับเข้าเลี้ยงสุกรขุนใหม่แต่ผลผลิตยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าปริมาณจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นอย่าง ‘ผิดปกติ’ จึงเป็นข้อสงสัยว่าในเมื่อหมูเกือบจะไม่เหลือแล้ว แต่ทำไมในตลาดจึงมีเนื้อหมูจำนวนมาก พบว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา มีร้านจำหน่ายปลีกหมูของโบรกเกอร์รายหนึ่ง โฆษณาขายเนื้อหมูส่วนสะโพกราคากิโลกรัมละ 150 บาท หัวไหล่ 135 บาท เมื่อตรวจที่บรรจุภัณฑ์กลับพบว่าผลิตเมื่อปี 2020 เท่ากับเป็นหมูตกค้าง จึงเกรงว่าจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือที่ร้ายที่สุดคือเป็นหมูจากประเทศที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงได้ แต่สารนี้ผิดกฎหมายไทยห้ามใช้เลี้ยงหมูเด็ดขาด นั่นคือผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับสารอันตรายนี้ ขอให้กรมปศุสัตว์เร่งปราบปรามขบวนการนี้โดยด่วนที่สุด” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
ขณะที่นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ เพื่อให้เกษตรกรที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ได้รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกวิธี หากภาครัฐยังปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย ไม่มีแหล่งที่มา และอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมสุกรไทย โดยปัจจุบันประเมินว่ามีเกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10% แม้ต้องอยู่ในวิกฤติและภาระต่างๆ ที่หนักหนามาก ทั้งค่าพันธุ์ ค่าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ค่าการป้องกันโรค ฯลฯ แต่กลับต้องเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติจากเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า
"ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูง เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อน ASF ยิ่งเป็นการทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่ สำหรับแนวทางแก้ไขทางสมาคมเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส รวมถึงสารเร่งเนื้อแดงที่ผิดกฎหมายไทย" นายสิทธิพันธ์ กล่าว
ทางด้านนายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเสริมว่า จากการตรวจสอบพบว่าเนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้ มีราคาที่ต่ำกว่าราคาเนื้อสุกรไทยมาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยที่ยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ส่วนข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย ดังนั้นเนื้อสุกรที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นสุกรติดเชื้อ ASF ทั้งหมด ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจจากหน่วยชันสูตรโรคสัตว์กลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเชื้อ ASF ในเนื้อสุกรทั้งหมดจาก 3 ตัวอย่าง จากที่ขายลดราคาในตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (ตลาด อ.ต.ก.) ในช่วง 12-19 กุมภาพันธ์ 2565 และเก็บตัวอย่างห้างชานเมือง กรุงเทพฯ ตรวจพบ 3 จาก 4 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนเมายน 2565 และครั้งที่ 3 เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรจากห้างย่านสุขุมวิท ตรวจพบ 8 จาก 20 ตัวอย่าง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อสุกรลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด
“หมูกล่องที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศ ที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า “ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้ วันนี้ทุกภาคส่วนจึงต้องระดมสมองและสรรพกำลังในการหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด" น.สพ.วรวุฒิ กล่าว