วันที่ 3 กันยายน 2565 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคมครบรอบ 32 ปี โดยในเวลา 09.30 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม และรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ “นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแสดงความยินดี และชื่นชมถึงพัฒนาการของสำนักงานประกันสังคมที่พัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นที่พึ่งและหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต แก่แรงงานมาตลอด 32 ปี พร้อมก้าวสู่ปีที่ 33 เพื่อสร้างสรรค์ หลักประกันชีวิต ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน”
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง รวมทั้งบูรณาการ การทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก โดยยึดกฎหมายและข้อบังคับ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด ทันท่วงที และมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่างๆ ทั้งการให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน การปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการเชิงรุกให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน อย่างทันท่วงที ส่งเสริมการให้บริการภาครัฐไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างเครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศในการให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบนโยบายในปี 2566 เพื่อเป็นของขวัญและช่วยเหลือผู้ประกันตน ลูกจ้างและนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1. เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม โดยการปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... ได้แก่ การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตน เพื่อรองรับผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพและสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้ การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 3 ขอ (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร จากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่าย ร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ผู้ประกันตน สูงอายุได้รับโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
2. ยกระดับการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก โดยปรับปรุงรายการสุขภาพ ได้แก่ ขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่ในการตรวจ เพิ่มรายการตรวจ สุขภาพ เช่น การซักประวัติ การประเมินวัยทำงาน (คัดกรองโรคซึมเศร้า ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด) การคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV Rapid) การทำงานของตับ (SGOT, SGPT) เพิ่มการให้คำแนะนำและปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพรายบุคคล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกและสามารถพิสูจน์ตัวบุคคล ที่มีสิทธิได้อย่างถูกต้องและเชื่อมโยงข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสมุดสุขภาพของผู้ประกันตน รวมถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค