กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (225/2565) ลงวันที่ 3 กันยายน 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น
โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 36/2565 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2565
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ) เชียงใหม่ (อ.จอมทอง ฝาง แม่แจ่ม) เชียงราย (อ.เมือง แม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง แม่สรวย) ลำพูน (อ.เมือง) ลำปาง (อ.สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม ห้างฉัตร) พะเยา (อ.เชียงคำ ปง จุน ดอกคำใต้) แพร่ (อ.สอง ลอง ร้องกวาง วังชิ้น) น่าน (อ.ท่าวังผา บ่อเกลือ ปัว สองแคว เวียงสา แม่จริม) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด) พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) กำแพงเพชร (อ.เมือง คลองลาน โกสัมพีนคร) สุโขทัย (อ.เมือง ทุ่งเสลี่ยม กงไกรลาศ) เพชรบูรณ์ (อ.เมือง วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ) พิจิตร (อ.ดงเจริญ ทับคล้อ) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก ทัพทัน สว่างอารมณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อ.เมือง ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว) หนองคาย (อ.สังคม โพธิ์ตาก) บึงกาฬ (อ.เมือง บุ่งคล้า) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.กุดจับ นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมือง ภูพาน สว่างแดนดิน) นครพนม (อ.เมือง) มุกดาหาร (อ.เมือง ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง) ชัยภูมิ (อ.เมือง หนองบัวระเหว แก้งคล้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์) ขอนแก่น (อ.เมือง ชุมแพ ภูเวียง ภูผาม่าน มัญจาคีรี ชนบท บ้านแฮด บ้านไผ่) มหาสารคาม (อ.โกสุมพิสัย) กาฬสินธุ์ (อ.เมือง ยางตลาด) ร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ) ยโสธร (อ.มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมือง ชานุมาน) นครราชสีมา (อ.ด่านขุนทด โนนสูง ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย พิมาย จักราช ลำทะเมนชัย ชุมพวง) บุรีรัมย์ (อ.เฉลิมพระเกียรติ ประโคนชัย โนนดินแดง นางรอง) สุรินทร์ (อ.ปราสาท พนมดงรัก) ศรีสะเกษ (อ.ขุนหาญ กันทรลักษ์) และอุบลราชธานี (อ.เมือง วารินชำราบ บุณฑริก น้ำยืน นาจะหลวย น้ำขุ่น เดชอุดม นาเยีย)
ภาคกลางจังหวัดกาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี หนองปรือ บ่อพลอย เลาขวัญ) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง ปากท่อ บ้านคา) สุพรรณบุรี (อ.ด่านช้าง) นครนายก (อ.เมือง ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม) สระแก้ว (อ.เมือง เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร อรัญประเทศ) ระยอง (อ.เมือง แกลง ปลวกแดง) จันทบุรี (อ.เมือง นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ท่าใหม่ ขลุง) ตราด (ทุกอำเภอ) ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี) นนทบุรี (อ.เมือง ปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อ.เมือง บางพลี) เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย)
ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อ.หลังสวน ทุ่งตะโก พะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อ.พนม คีรีรัฐนิคม) นครศรีธรรมราช (อ.ทุ่งใหญ่ ทุ่งสง นบพิตำ พรหมคีรี ขนอม) ระนอง (อ.เมือง ละอุ่น กะเปอร์) พังงา (อ.เมือง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง กะปง คุระบุรี ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อ.ถลาง) และกระบี่ (อ.เขาพนม เกาะลันตา ลำทับ ปลายพระยา)
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2565
ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี (อ.เมือง ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ) ระยอง (อ.เมือง บ้านฉาง แกลง) จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ ขลุง) และตราด (อ.เมือง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง)
ภาคใต้จังหวัดระนอง (อ.เมือง สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมือง เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.เมือง กะทู้ ถลาง) และกระบี่ (อ.เมือง คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
กอปภ.ก.จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยโดยติดตามปริมาณที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่มีฝนตกหนักและปริมาณฝนตกสะสมจำนวนมาก ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้มีประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ ในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลด้วยความระมัดระวังในช่วงคลื่นลมแรง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัดสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป