ผู้อำนยการ ทสจ.กาฬสินธุ์ แจงการก่อสร้างบ่อบาดาลพลังงานโซล่าเซลล์โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ระบุสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสนทช.ต้องการให้เร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 120 วัน หากไม่ทันถูกดึงงบคืน พร้อมยืนยันก่อสร้างตามแบบ โดยเฉพาะถังเหล็กใหญ่ 2 หมื่นลิตรตั้งพื้นดินรูปแบบใหม่บรรจุน้ำได้มากขึ้น วัสดุอุปกรณ์เหมาะสมกับเงิน 5 แสนบาท สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่ชาวบ้านยังเรียกร้องให้หน่วยงานด้านตรวจสอบ ทั้งสตง.กาฬสินธุ์ และปปช.เข้าตรวจสอบ เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณ
วันที่ 5 กันยายน 2565 จากกรณีชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ส่อไปในทางไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องน้ำ รวมถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งหวั่นวิตกกังวลถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะถังเหล็กขนาดกว่า 2 หมื่นลิตร ซึ่งใช้พลาสติกรองน้ำด้านใน ที่ตั้งไว้พื้น ชาวบ้านเกรงว่าถังจะล้มทับได้รับอันตราย นอกจากนี้ระบบส่งน้ำต่ำ รวมถึงการขุดเจาะเกรงว่าอาจจะใช้ไม่ถึงหน้าแล้ง และอาจจะไม่คุ้มเงินงบประมาณ 5 แสนบาท จึงอยากให้หน่วยงานทั้ง สตง.และปปช.เข้ามาตรวจสอบ
ล่าสุดมีรายงานว่า สำหรับบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ โครงการสนับสนุนน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่ดำเนินการโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์มีอยู่หลายพื้นที่ กระจายอยู่อำเภอต่างๆของ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีลักษณะการก่อสร้างเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งการขุดเจาะบ่อบาดาลและระบบส่งน้ำต่ำ ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่เคยเห็นมาก่อน และหวั่นวิตกถึงความปลอดภัยของถังน้ำเหล็ก ที่นำแผ่นเหล็กมาล้อมเป็นวงกลมประกบกันแล้วขันน็อตยึดไว้ โดยใช้พลาสติกรองน้ำไว้ด้านใน ก่อนตั้งไว้ปูนบนพื้นดิน รวมทั้งมาตรฐานคุณภาพ มอก.ของวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งชาวบ้านกลัวว่าหากใช้งานต่อไปนานๆและหากมีล้มพายุอาจจะทำให้ถังล้มทับได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงอยากให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบทั้ง สตง.กาฬสินธุ์ และปปช.กาฬสินธุ์เข้ามาตรวจสอบ และหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าไปปรับปรุงแก้ไข
ด้านนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 จ.กาฬสินธุ์ โดยทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ได้ของบประมาณไปยังส่วนกลาง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ที่หาน้ำยาก เนื่องจากพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ทั้ง 18 อำเภอเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และเกษตรกรต้องน้ำ โดยได้รับการจัดสรรมา 19 โครงการ รวม 9,498,100 บาท ก่อนที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ โดยวิธีตกลงจ้างวงเงินโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะสนทช.หรือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ต้องการให้เร่งในการที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 120 วัน และหากดำเนินการไม่เสร็จภายใน 120 วันงบประมาณจะถูกดึงกลับคืนและมีปัญหาทันที
นายอัครพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนรูปแบบในการขุดเจาะนั้น จะต้องให้ได้น้ำอย่างน้อย 35 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง พร้อมแผงโซล่าเซลล์ 6 แผง และถังเหล็กรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นถึงใหญ่ขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าถังที่ผ่านมา และมีท่อ ซึ่งรวมการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด และวัสดุอุปกรณ์วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ทั้งนี้ปัจจุบันราคาวัสดุอุปกรณ์แพงขึ้น แต่ทางเราได้กำหนดราคากลาง เฉพาะถังเหล็กไว้ที่ 120,000 บาทเท่านั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะหน้าแล้ง จากการปลูกปลูกพืช ปลูกผัก และทำการเกษตรเพิ่มรายได้
นายอัครพงษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการก่อสร้างนั้นมีคณะกรรมการตรวจติดตาม และตรวจรับงานให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ ยืนยันว่าเหมาะสมทุกอย่าง และประชาชนได้รับประโยชน์ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนพื้นที่ไหนบ่อบาดาลมีปัญหาก็จะแจ้งรับจ้างเข้าไปดำเนินการแก้ไข
ทีมข่าวกาฬสินธุ์รายงาน