ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ครม.ไฟเขียวกู้ 8.5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง กฟผ.
06 ก.ย. 2565

ครม.ไฟเขียว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยคลังค้ำประกัน บริหารภาระค่า FT พร้อมชงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เข้าครม. 13 ก.ย.นี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพครัวเรือนเปราะบาง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. หลังจากมีภาระในการดูแลค่า FT เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน
ขณะที่การช่วยเหลือครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า FT งวดใหม่ กระทรวงพลังงาน จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 กันยายน 2565 พิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้จะได้รายงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุม ครม. รับทราบแล้ว 
สำหรับการช่วยเหลือเรื่องของค่าไฟฟ้านั้น รองนายกฯ ยืนยันว่า จะช่วยเหลือทันในรอบบิลค่าไฟเดือนกันยายน 2565 แน่นอน ซึ่งแนวทางช่วยเหลือจะเป็นไปตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565 (ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นค่า FTเดือน พ.ค.-ส.ค. จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือนก.ย.–ธ.ค.จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) 
2. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า FT เดือนก.ย.–ธ.ค. 2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75%
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการคู่ขนาน คือ การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟทอป) หลังจากประชาชนหลายคนให้ความสนใจ ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คาดว่า จะปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ ให้อนุมัติรวดเร็วขึ้น
“ทุกหน่วยงานจะร่วมกันเพื่อทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในการอนุมัติรวดเร็วขึ้น ทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมไปได้เร็วกว่า และเริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ภาคครัวเรือนจะพยายามทำให้เร็วขึ้น เพื่อเป้นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาผลกระทบค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่มีศักยภาพที่จะลงทุนโซลาร์รูฟทอปได้”
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท 
โดยให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องและสภาวะตลาดเงินในขณะนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ โดย ครม. รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/ 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ. ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า FT ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น 
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า FT ที่เพิ่มขึ้น ชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 64 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม- สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน 
ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่า FT ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่า FT ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท 
ทั้งนี้ ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) โดย กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...