นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการเยียวยาผู้บริโภคระดับทวิภาคี โดยมีนายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวรายงาน ณ ห้องสุรศักดิ์ บอลลูน ๒-๓ โรงแรมอีสทิน แกรนด์ สาทร กรุงเทพมหานครโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการระงับข้อพิพาทและเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดน และถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของต่างประเทศให้เป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของไทย
นายชาญกฤช กล่าวว่า คณะกรรมการอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ACCP) ได้กำหนดแผนการปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (The ASEAN Strategic Action Plan for Consumer Protection-ASAPCP) ระยะ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๘) เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ ๑ กำหนดให้มีกรอบการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียนและได้ตั้งผลลัพธ์ว่า “มีการจัดทำรูปแบบการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างเครือข่ายการทำงานในการรับเรื่องร้องเรียนเยียวยาผู้บริโภคที่เกิดความเสียหายขึ้น”
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย (National Focal Point)ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หลักในการพัฒนากระบวนการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนจึงได้จัดโครงการประชุมนานาชาติเพื่อความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการเยียวยาผู้บริโภคระดับทวิภาคี และจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างไทย-สถาบันมาตรฐานการค้าชาร์เตอร์ดแห่งสหราชอาณาจักรภายใต้การประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศและภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทข้ามแดนของแต่ละประเทศที่จะถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคของไทย ตลอดจนการพัฒนากรอบการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนของไทยให้กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
การประชุมดังกล่าวมีการอภิปรายภายใต้หัวข้อ “กระบวนการเยียวยาผู้บริโภคก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 และแนวทางการพัฒนาในอนาคต” โดยวิทยากรผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี (KCA) ผู้แทนจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคภูฏาน (OCP) ผู้แทนจากกรมการค้าภายในลาว (DIT) ผู้แทนจากสำนักงานการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคเวียดนาม (VCCA) ผู้แทนจากสถาบันมาตรฐานการค้าชาร์เตอร์ดแห่งสหราชอาณาจักร (CTSI) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (OCPB) รวมทั้ง มีพิธีลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กับสถาบันมาตรฐานการค้าชาร์เตอร์ดแห่งสหราชอาณาจักร (CTSI)
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย บุคลากรขององค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายภาครัฐ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศจำนวนกว่า ๗๐ คน