ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงของ ป.ป.ช.
08 ก.ย. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เวลาช่างรวดเร็วเหลือเกินนะครับ นี่เริ่มกันยายน เดือนที่ 9 ของปี ดูเหมือนว่า เพิ่งจะปีใหม่ไม่นานนี้เอง สถานการณ์โรคโควิทค่อนข้างจะเบาบางลง คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีอันจะกินก็เริ่มเที่ยวเริ่มสังสรรค์เฮฮากัน ผับบาร์เริ่มเปิดจนเกิดเหตุเกิดภัยผู้คนล้มตายไปเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่ไม่ถึงเดือนเงียบแล้วครับ ขณะคนส่วนใหญ่ยังต้องหาเช้ากินค่ำ  นักการเมืองก็เสพอำนาจกันอย่างสนุกสนาน โดยชาวบ้านไม่รู้ว่าจะได้อะไร บ่นไปก็เท่านั้นครับ

มาเล่าเรื่องกันต่อ เรื่อง ป.ป.ช.ที่ว่า ทำไมมีหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจหรือต้นสังกัดเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตไปสอบสวนคดีอาญาและทำเรื่องวินัยได้ง่าย อย่างที่เคยเล่ามาตอนต้นๆ แล้วครับว่า กฎหมายลูก ป.ป.ช. ให้สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปให้หน่วยงานอื่นทำหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายที่ใช้กับหน่วยงานนั้นกำหนดไว้ ถ้าเรื่องนั้นเป็นไม่ใช่ความผิดร้ายแรง  แล้วเขาดูยังไงว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดแนวทางในการพิจารณาเรื่องกล่าวหาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงมีอะไรบ้าง ตามคำสั่งที่ 1239/2561ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561 แต่ละเรื่องได้แยกไว้ชัดเจนครับ คือ

เรื่องแรก เป็นเรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน สิ่งแวดล้อม หรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ  ส่วนมากจะเป็นเรื่องกล่าวหาการออกเอกสารสิทธิในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น ที่ป่า ที่เขา ที่ชายทะเล อาจมีการนำเอกสารสิทธิการครอบครอง เช่น สค.1 ที่อยู่พื้นที่อื่นบินมาลงในที่ชายทะเล ที่ภูเขา ที่ป่า หรือการอ้างการครอบครองมาก่อนกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยอ้างการทำประโยชน์มาช้านาน

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องกล่าวหาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ เช่น เรื่อง จำนำข้าว

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องกล่าวหาที่สำคัญระดับประเทศที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น เรื่องคดีก่อสร้างสนามฟุตซอล

เรื่องที่สี่ เรื่องกล่าวหาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือเรื่องที่กล่าวหา เช่นเรื่อง คดีเสือดำ

เรื่องที่ห้า เรื่องกล่าวหาที่สำคัญ และเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติ หรือมีเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง คดีปาล์มอินโดนิเซีย

เรื่องที่หก เรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 5 แสนบาทขึ้นไป และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างกว้างขวาง ซึ่งเรื่องประเภทนี้มีจำนวนมากตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

เรื่องที่เจ็ด เรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับการที่รัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้สัมปทานที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์โดยมิชอบ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีลักษณะร้ายแรง เช่นสัมปทานรถไฟฟ้า การจัดซื้อครุภัณฑ์ของสนามบิน

เรื่องที่แปด เรื่องกล่าวหาที่มีผลกระทบต่อระบบบริหารราชการในภาพรวม แม้ไม่อาจคำนวณมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินได้  เช่นการโยกย้ายผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไม่เป็นธรรม หรือการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์ในการบรรจุเข้ารับราชการ

เรื่องที่เก้า เรื่องกล่าวหาอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการ

กรณีเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะความผิดตามข้างต้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ลักษณะความผิดร้ายแรงดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไปหรือมีเหตุอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงตามคำสั่งนี้ก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ป.ป.ช.ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนและหรือต้นสังกัดไปทำแทนก็ได้

ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่เขา ซึ่ง ป.ปช.ชี้มูลและศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว และหนึ่งในจำเลยคดีนี้เป็นถึงรองผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ติดตามกันต่อนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...