การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ครบรอบ 62 ปี ในวันที่ 28 กันยายน 2565 ให้บริการพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการ โดยการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและเป็นองค์กรชั้นนำที่ทันสมัยในระดับภูมิภาค
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)หรือPEA กล่าวว่า กฟภ. มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจรมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัยและมุ่งมั่นให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือนผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้
- โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ระยะที่ 2 (คฟม.2) ดำเนินการขยายเขตให้กับประชาชนที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการขยายเขต ตามคุณสมบัติของ PEA ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทุกภูมิภาค
- โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 2 (คขก.2) เพื่อรองรับความต้องการ การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรของเกษตรกร โดยขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าและติดตั้งมิเตอร์ให้กับเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ของ PEA
- โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ PEA สนับสนุนโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรับปรุงระบบไฟฟ้าเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน ระยะทางจังหวัดละ 1 – 2 กิโลเมตร เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย PEA รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการก่อสร้างระบบไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินทั้งหมด ปัจจุบันแล้วเสร็จ จำนวน 21 จังหวัด
- การก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าเหนือดินให้เป็นระบบเคเบิลใต้ดิน เพื่อสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เกิดความมั่นคงในระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของ PEA
- มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท บ้านอยู่อาศัยได้รับการช่วยเหลือประมาณ 15.99 ล้านราย ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ได้รับการช่วยเหลือประมาณ 7 แสนราย รวม 16.69 ล้านราย คิดเป็นเงินประมาณ 1,508.76 ล้านบาท
สำหรับงานบริการ PEA พัฒนา PEA Smart Plus Application ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในการใช้บริการของ PEA ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ให้ได้รับความพึงพอใจมากที่สุดผ่านรางวัลต่างๆ
- รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 จำนวน 6 รางวัล รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น (5 ปี ซ้อน) รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม ประเภทดีเด่น (4 ปี ซ้อน) รางวัลบริการดีเด่น (2 ปี ซ้อน)
- รางวัลเลิศรัฐ ปี 2565 (รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี) ประเภทนวัตกรรมการบริการ ผลงานระบบตรวจสอบและติดตามข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ (LCIM) และประเภทการพัฒนาการบริการ จากผลงาน ONE CLICK แค่คลิก ก็ติด (มิเตอร์) แล้ว
- รางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) PEA ผ่านการรับรองมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวกสะสมสูงสุดของประเทศ ปี 2559 – 2565 จำนวน 587 แห่ง สำนักงานการไฟฟ้าจุดรวมงานผ่านการรับรองจำนวน 198 แห่ง คิดเป็น 100%
- รางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ ITA Awards 2022 PEA ได้รับผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) 97.37 คะแนน ระดับ AA ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน โดย PEA ได้อันดับที่ 1 ของรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน อันดับที่ 4 ของกระทรวงมหาดไทย และอันดับที่ 6 ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้ารับการประเมิน
- รางวัล 3 เหรียญทองจากเวทีนานาชาติ The INNOVERSE Invention & Innovation Expo 2022 ประเทศสหรัฐอเมริกา และรางวัล 3 เหรียญทองจากเวที The 2022 Japan Design Idea and Invention Expo (JDIE 2022) ประเทศญี่ปุ่น
- รางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2022 (AREA 2022) 4 ปีซ้อน รางวัลกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ระดับภูมิภาคเอเซีย ซึ่งในปี 2565 ได้รับ 2 สาขา ได้แก่ Social Empowerment จากโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนพัฒนาความยั่งยืนเพื่อชุมชน (บ้านไฮตาก) และ Corporate Sustainability Reporting จากรายงานการพัฒนาความยั่งยืนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามมาตรฐานสากล (GRI Standards)
PEA มุ่งสู่การเป็น Digital and Green Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
- แผนงานขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้โดยพลังงานทดแทน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้พลังงานทดแทน (Mini Grid) ติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดประมาณ 50 กิโลวัตต์ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดประมาณ 150.8 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ระบบควบคุมและระบบจำหน่ายแรงต่ำ 400/230 โวลต์ (กำลังไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 300 วัตต์ต่อครัวเรือน) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น โดยการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม
PEA สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รองรับกับการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าและให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (PEA VOLTA Charging Station) ปัจจุบัน เปิดให้บริการ PEA VOLTA Charging Station แล้วจำนวน 73 สถานี โดยมีเป้าหมายในปี 2565 จำนวน 90 สถานี ปี 2566 จำนวน 100 สถานี และภายในปี 2570 จำนวน 1,068 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบชาร์จเร็ว รองรับการอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ทุกขนาด ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป รถบรรทุกไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมี PEA VOLTA DC Wallcharge ที่เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 25 kW สามารถเชื่อมต่อกับระบบบริหารจัดการ PEA VOLTA Platform เพื่อให้บริการอัดประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบการใช้งานในครัวเรือนที่สามารถเป็นเจ้าของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น และในเชิงพาณิชย์ มุ่งสู่การให้บริการกลุ่มลูกค้าใหม่หรือธุรกิจใหม่ โดยติดตั้งในบริเวณสาธารณะ เช่น พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน พื้นที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม หรืออาคารธุรกิจขนาดเล็ก เตรียมความพร้อมให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามโครงข่าย (EV Roaming) ให้สามารถนำไปใช้งานกับ EV Platform ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายอื่นได้ โดยผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชัน
PEA ยกระดับระบบไฟฟ้าเป็นเลิศด้วยดิจิทัล เชื่อมโยงลูกค้า ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้บริการไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัย มุ่งมั่นให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ 100%