กระทรวงแรงงาน โดย สนร.ริยาด ให้ความช่วยเหลือส่งแรงงานไทย 12 คน กลับจากซาอุดิอาระเบีย ประสานหางานทำให้ตามความต้องการ หากลุ่มแรงงานที่ได้รับนิรโทษกรรมเดินทางกลับประเทศไทย เหตุแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ จนต้องพำนักนานกว่า 25 ปี
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ทางการซาอุดิอาระเบียได้ประกาศนิรโทษกรรมให้กับบุคคลต่างชาติที่ไม่มีหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ (ใบอีกาม่า) ให้สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้โดยยกเว้นโทษปรับในจำนวน 10,000 รียาล หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ เกือบหนึ่งแสนบาทนั้น สำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้มีระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 ถึง 26 มิถุนายน 2560 จึงทำให้มีชาวต่างชาติที่พำนักอย่างไม่ถูกต้องได้เข้ามารายงานตัวเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ได้มีคนไทยและแรงงานไทยรวมอยู่ด้วย โดยแต่ละคนนั้นได้อยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเวลานานกว่า 25 ปี และมีอายุเกินกว่า 60 ปี เกือบทุกคน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้ความช่วยเหลือให้บุคคลกลุ่มนี้ออกมาลงทะเบียน จึงมีผู้ออกมารายงานตัวจำนวน 86 คน แบ่งเป็น เขตความรับผิดชอบ สอท.ริยาด จำนวน 23 คน และ สกญ.เจดดาห์ จำนวน 58 คน ซึ่งบางส่วนได้เดินทางกลับไปบ้างแล้ว
นายสุทธิ ยังกล่าวต่อว่า ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ ได้มีแรงงานไทย เดินทางกลับ จำนวน 12 คน โดยออกเดินทางจากเมืองริยาดจำนวน 7 คน โดยสายการบินคูเวต เที่ยวบินที่ KU 411 ในเวลา 18.30 น. โดยมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 10.50 น.ของวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ส่วนแรงงานไทยที่เหลืออีก 5 คน ได้เดินทางออกจากเมืองดัมมั่ม โดยสายการบินกาตาร์ เที่ยวบินที่ FZ 0523 ในเวลา 19.00 น. และมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 12.35 น .ของวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายวิวัฒน์ ตังหงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และนายสมบัติ นิเวศน์รัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี กลุ่มแรงงานไทยที่ได้เดินทางกลับพร้อมทั้งครอบครัวต่างมีความรู้สึกซาบซึ้งยินดีที่ได้รับการอภัยโทษ ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (สนร.ริยาด) จะได้ดำเนินการหาคนกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคนกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานสูงวัย นอกจากนี้ สนร.ริยาด ยังได้ประสานกับแรงงานไทยบางคน ที่มีความประสงค์จะทำงานต่อไปและได้จัดหางานให้ด้วยแล้ว ซึ่งการประกาศนิรโทษกรรมในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียด้วย