กยท. เตรียมพื้นที่ 3.8 หมื่นไร่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ รับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา พร้อมสร้างประโยชน์ให้เกษตรกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง และจังหวัดนครศรีธรรมราช คาดเงินสะพัด 8.9 หมื่นล้านบาท
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ได้ดำเนินการศึกษาพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่ 38,520 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการกำกับดูแลของ กยท. ภายใต้โครงการ “จัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ” หรือ SECri หรือ Southern Economic Corridor of Rubber Innovation: SECri
ตั้งอยู่ในขอบเขตการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้ตอนบนและตอนกลางได้ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ 3,500 ไร่ ณ อ.ช้างกลาง ศึกษาโอกาสการพัฒนาพื้นที่รองรับการทำธุรกิจ อุตสาหกรรมยางพารา พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ และพื้นที่ 33,520 ไร่ ณ อ.ช้างกลาง กรุงหยัน นาบอน ทุ่งใหญ่ ทำการศึกษาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเกษตรรูปแบบผสมผสาน ต้นแบบการจัดการสวนยางยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โครงการดังกล่าว ได้ศึกษาแนวคิดและรูปแบบ ประเภทธุรกิจยางพาราที่เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่ อาทิ การพัฒนาการแปรรูปยางคอมปาวด์ ยางผสม ธุรกิจแปรรูปน้ำยางข้น โรงงานผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา เป็นต้น
รวมทั้งการออกแบบผังแม่บทการพัฒนาเบื้องต้น และผังโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคหลักในพื้นที่โครงการ รูปแบบในการลงทุนและรูปแบบการบริหารจัดการ รวมถึงการประเมินผลกระทบจากโครงการและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชคือ ความพร้อมของระบบขนส่งถนนสายหลัก สายรอง ท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ เป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ (Land Bridge) ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยตั้งหมุดหมายให้ จ. นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ภูมิภาคนี้ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบจากยางพาราอันดับต้นของประเทศ
และจากผลศึกษาจะทำให้เกิดการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่และโรงงานแปรรูปขนาดกลางและขนาดใหญ่ การเปิดโอกาสพัฒนากลุ่ม Start Up รุ่นใหม่ในพื้นที่จากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3.6 แสนล้านบาท เกิดความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านตัน และการส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์จากยางพารามูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท
และที่สำคัญจะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 45,000 คน รวมถึงยกระดับรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็ง โดยผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหากมีโครงการ SECri ในอนาคต คาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง และจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการลงทุนพัฒนาโครงการมูลค่าประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท
ในขั้นถัดไป กยท. จะดำเนินการในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่ โดยช่วง 15 เดือนแรก จะทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบรายละเอียดระบบบริหารจัดการยางพาราให้สอดคล้องกับธุรกิจยางพาราและระบบนิเวศของพื้นที่ หลังจากนั้น อีก 7 ปี จะทำการก่อสร้าง ควบคู่กับการจัดหานักลงทุน การเตรียมความพร้อม และขับเคลื่อนนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้ตอนบนและตอนกลางต่อไป