พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ฐานะ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เป็นประธาน ในพิธีส่งขบวนรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ เดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ไปทำการผลักดันน้ำที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ สั่งการให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติเชิงรุกทั้งด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน
"พล.ร.อ.สมประสงค์ ห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย จึงได้ สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เตรียมเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือให้มีความพร้อม ตลอดจนลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ พร้อมกำลังพล ไปยังจังหวัดระยอง โดยจะดำเนินการติดตั้งที่บริเวณสะพานทะเลน้อย – ท่ากะพัก ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง ทั้งนี้ตัวสะพานมีความยาวประมาณ 170 เมตร ใช้ข้ามแม่น้ำประแสร์ อยู่ห่างจาก อ.แกลง ประมาณ 9 กิโลเมตร" พล.ร.ท. ปกครอง กล่าว
สำหรับ เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 2554
ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วันขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว