ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
งานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ชุมชนชาวมอญวัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตมะ) อำเภอสังขละบุรี
11 ก.ย. 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 10 ก.ย. 2565 ชาวมอญบ้านวังกะ ต. หนองลู อ. สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี  ในชุดพื้นเมืองจูงลูกหลาน มาทำบุญในงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ กลางเดือน 10 ด้วยการ นำอาหารคาวหวาน น้ำและผลไม้  รวมทั้งธง ตุงกระดาษ มาใส่ไว้ในเรือจำลองขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ ก่อนจะนำมาตั้งไว้บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา สถานที่สำคัญในการจัดประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ  นอกจากนั้นยังมีการปล่อยโคมลอยที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าการปล่อยโคมลอย เป็นการสะเดาะเคราะห์ ลอยความทุกข์ ความโศก รวมทั้งสิ่งไม่ดีให้หายไปจากตัวเรา นั่นเอง

 สำหรับความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของคนมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ว่ากันว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองมอญหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์

พระเจ้าธรรมเจดีย์มีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมดทั้งประเทศ แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง ซึ่งก็คืออดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงความรู้ ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาวนั่นเอง ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่

คณะของปะขาวนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกาได้รับการอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับ ในระหว่างทางที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาลำหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุพัดให้หลงทิศไป ส่วนอีกลำหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า ด้วยเครื่องเซ่นไหว้นั้น ให้เหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้น ได้เดินทางกลับมาโดยปลอดภัย หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย ชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุก ๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้

สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้

กิจกรรมในงาน ได้แก่ การเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์, การบูชาเรือ โดยนำธงกระดาษ และอาหารคาวหวาน 9 อย่าง ไปบูชาเรือ, การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ โดยการนำธูปเทียน ตามกำลังวันเกิด ไปไหว้ และสะเดาะเคราะห์เพื่อจะมีการเผาธูปเทียนในวันสุดท้ายของงาน, การเล่นโคม ปล่อยโคม, การตักบาตรน้ำตาลทราย น้ำผึ้ง, การเลี้ยงอาหารคาวหวานแก่ผู้มาร่วมงาน และการนำเรือไปลอยที่แม่น้ำสามประสบ

พิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญที่ทำกันอยู่จะมีการเตรียมงานดังนี้ ก่อนถึงวันพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาต่างๆ เพื่อถวายวัด โดยมีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้าน รับไปให้ลูกบ้านช่วยกันทำแล้วนำมาส่งที่วัด ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันที่วัดวังก์วิเวการามเพื่อสร้างเรือจากลำไม้ไผ่ประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ในยามหัวค่ำจนถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะทยอยพากันนำธง ตุง ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือและบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น พร้อมนำเครื่องเซ่น เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าว ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ จุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดี และเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน และรับฟังบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์จากภิกษุสงฆ์

เมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ (ปีนี่ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 11 กันยายน 2565) ชาวบ้านก็มารวมตัวกันตั้งเป็นขบวนแห่ มีการเล่นโคม ปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ ประกอบการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน จากนั้นชาวบ้านทั้งหมดจะช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ที่เรียกกันว่า “สามสบ” หรือ “สามประสบ” นั่นเอง

ทีมข่าวกาญจนบุรี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...