กระทรวงพลังงาน เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 13 กันยายนนี้ พิจารณาอนุมัติงบกลางปี 2565-66 วงเงิน 9,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าช่วยบรรเทาผลกระทบกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 เพื่อให้ทันในการคำนวณบิลค่าไฟช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมมาตรการคาดจะใช้งบกลางฯ วงเงิน 8,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ได้พิจารณาปรับงบประมาณช่วยส่วนลดค่าไฟของผู้ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย เพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงานกกพ.) คำนวณน้อยกว่าตัวเลขที่ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) คำนวณออกมา จึงต้องนำเข้าหารือกบง.ก่อน จากนั้นจะเสนอครม.ขอใช้งบกลางปี 2565 วงเงิน 2,250 ล้านบาท(เดือนกันยายน2565) และงบกลางปี 2566 วงเงิน 6,750 ล้านบาท (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) รวมเป็น 9,000 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (กันยายน-ธันวาคม 2565) เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบัน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565) อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงและผลจากเงินบาทอ่อนค่า