สธ.สรพ.ผนึกภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกฯ “อนุทิน” ย้ำนโยบายแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา ลดอันตรายผู้ป่วยที่พึงหลีกเลี่ยงได้ ยกย่อง รพ.2P Safety 855 แห่ง มุ่งเดินหน้าสู่ 3P safety
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวันแห่งความปลอดภัยผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 4 (The 4Th World Patient Safety Day) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6Th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด Medication Safety: Medication Without Harm หรือ "ความปลอดภัยจากการใช้ยา: การใช้ยาโดยปราศจากอันตรายที่ป้องกันได้ พร้อมกล่าว ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนเรื่อง 3P safety ในประเทศไทยเพื่อก้าวไปในระดับสากล” จากนั้น นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบประกาศนียบัตรให้กับ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital ปี2565 จัดขึ้นโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่าการจัดงานวันนี้ สะท้อนถึงความตื่นตัวความตั้งใจของบุคลากรและองค์กรในระบบสุขภาพ เห็นถึงความก้าวล้ำและเป็นผู้นำทางความคิดของประเทศไทย ตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยแต่คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้วย ซึ่งในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สะท้อนให้ทั่วโลกเห็นว่า ผู้ป่วยมีโอกาสไม่ปลอดภัยถ้าบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วยไม่ปลอดภัย และปีนี้องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยด้านยา (Medication Safety) มุ่งเน้นเชิญชวนประเทศสมาชิกกำหนดเป้าหมาย เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยา ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายความปลอดภัยของประเทศไทยที่กำหนดไว้แล้วใน Patient Safety Goals ในหมวด Medication Safety และประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และบุคลากรผ่านโครงการ 2P Safety Hospital ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 855 แห่ง
“ขอชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการในปี 2565 และเข้ารับกิตติกรรมประกาศ 2P Safety Hospital ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารและทีมงาน ในการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน ทำให้ประเทศไทยมีระบบ การรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเฝ้าระวัง วางแผนพัฒนาเชิงระบบ มีพื้นที่เวทีแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความปลอดภัย เกิดความร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนารูปแบบ กลไก และนวัตกรรมความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร และมีทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ ประสานแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า เราตื่นตัวในการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการขับเคลื่อนความปลอดภัยจากการใช้ยา จะต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ผู้ป่วย บุคลากร สาธารณสุข ญาติและครอบครัว”นายอนุทินกล่าว
ด้านแพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.กล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดเรื่องความปลอดภัยด้านยา เป็นหนึ่งในเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะเดียวกัน สรพ.ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัยที่ทุกรพ.ที่จะผ่านการรับรอง ต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดพลาดคลาดเคลื่อน มีระบบรายงานอุบัติการณ์ มีกระบวนการทบทวนและมีแผนบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง จึงเป็นการขับเคลื่อนต่อยอดและสร้างแรงผลักดันในรพ.ที่เข้าร่วมโครงการ 2P Safety Hospital วางระบบป้องกันความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นโดยปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านการใช้ยา ปัจจุบันมี รพ.ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 855 แห่ง เป็นรพ.สมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมโครงการและรับใบประกาศนียบัตรเป็น รพ. 2P Safety Hospital จำนวน 98 รพ.
“จากรายงานข้อมูลระดับสากล พบว่า การใช้ยาเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มากที่สุด ทั้งการจ่ายยาผิดคน ผิดขนาด ผิดชนิด ใช้ยาผิดวิธี จึงต้องมุ่งเน้นสร้างระบบป้องกันเพื่อลดอันตรายต่างๆที่จะเกิดกับผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่มีผลแทรกซ้อน ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากระบบ National reporting and learning system พบว่า อุบัติการณ์ความเสี่ยงอันดับ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา โดยมีการรายงานอุบัติการณ์ประมาณ 1 แสนครั้งต่อปี แต่ข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นและถึงตัวผู้ป่วยหรือได้รับยาดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง1.5% เท่านั้น สะท้อนว่าประเทศไทยมีการพัฒนาระบบป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาที่ดีที่ มีระบบตรวจเช็ค ก่อนการให้ยากับผู้ป่วย รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยให้บริการ และการให้ประชาชนและญาติช่วยกันตรวจสอบ โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ถึงตัวผู้ป่วยด้านยาลง 50% ร่วมกัน” ผอ.สรพ.กล่าว