กฟผ. ประกาศจุดยืนเป็นผู้นำการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุค 4.0 ให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม
สำหรับการแสดงจุดยืนของ กฟผ. ในการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน
ว่าที่พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. พร้อมเดินหน้าภารกิจสิ่งแวดล้อม กฟผ. ในยุค 4.0 สืบเนื่องตามนโยบายยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดย กฟผ. มุ่งขับเคลื่อนการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ปรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนขององค์กร โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของโครงการต่าง ๆ ให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาขอเพิ่มสัดส่วนที่ กฟผ. รับผิดชอบในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) จากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของแผน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ศึกษาแล้วว่ามีศักยภาพในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีจุดเด่นคือ มีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งการติดตั้งบนน้ำจะช่วยลดอุณหภูมิของแผงโซล่าเซลล์ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและลดการระเหยของน้ำ ส่วนการติดตั้งโซล่าเซลล์บนพื้นดินดำเนินการในพื้นที่หน่วยงานของ กฟผ. ดังนั้น จึงไม่เป็นการแย่งพื้นที่ภาคการเกษตรและเอกชน
ทั้งนี้ กฟผ. จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า เช่น การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านระบบสารสนเทศ การเตรียมพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยใช้พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน จับคู่แหล่งผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบ Hybrid ในพื้นที่เดียวกัน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและพลังงานลมที่ใช้ระบบ Wind Hydrogen Hybrid ควบคู่กับเซลล์เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา การวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นต้น
“ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าหลักก็ยังมีความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้กับประเทศ ซึ่ง กฟผ. ได้ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีการตรวจวัดและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายอย่างเคร่งครัด และในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ. ได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน”
ด้าน นายนฤมิต คินิมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวในตอนท้ายว่า กฟผ. ดำเนินกิจการไฟฟ้าโดยให้ความสำคัญต่อการดูและสิ่งแวดล้อม และมีฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการเป็นหน่วยงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการต่างๆ ทั้งโครงการระบบส่ง เหมือง และโรงไฟฟ้า การดูแลติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในช่วงระยะก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และระยะดำเนินการ การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก บริหารสัญญาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต งานที่ปรึกษาจัดวางระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล (ISO 14001) งานพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม งานส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้มีการถ่ายทอดสู่สังคมในงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ. เสมอมา