เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 มี จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีโดยเครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กรเรียกร้องเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด และแยกงานสอบสวนเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางปฏิรูปตำรวจว่าควรปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด และพิจารณาเรื่องการ แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจนั้น เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นการปฏิรูประบบอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจทุกระดับและการรับส่วยสินบน สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เนื่องจากงานของตำรวจทั้งหมดดำเนินการให้จบสิ้นได้ภายในจังหวัด และต้องประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายปกครองซึ่งมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักความสงบเรียบร้อยในตำบลและอำเภอ หน่วยตำรวจจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของหัวหน้าหน่วยการปกครองระดับจังหวัดคือผู้ว่าราชการจังหวัด และระดับอำเภอคือนายอำเภอสอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา 54 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในจังหวัดและนายอำเภอเป็นหัวหน้าส่วนราชการอำเภอมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายต่างๆ ในอำเภอตามมาตรา ๖๒
นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 96/2557 ในการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ และตามข้อ 5 ให้มีอำนาจสั่งข้าราชการในจังหวัดให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีหัวหน้าหน่วยการปกครองระดับประเทศที่มีอำนาจกำกับสั่งราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ส่วนงานสอบสวนคดีอาญา ควรได้รับการปฏิรูปโดยแยกเป็นอิสระออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น “สำนักงานสอบสวนคดีอาญา” เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานสอบสวนตามมาตรฐานวิชาชีพในลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก
การดำเนินการในสองเรื่องดังกล่าวรวมทั้งการโอนตำรวจ 9 หน่วย ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจจราจร ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจปราบปราบความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมายตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 และส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร็ว ถือว่า เป็นการปฏิรูประบบตำรวจให้มีความเป็นสากล และงานสอบสวนมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรภายนอก แก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เช่น การรับส่วยสินบนของตำรวจผู้ใหญ่รวมทั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจผู้น้อยที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างร้ายแรงในปัจจุบันได้
เครือข่ายองค์กรประชาชน 42 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งบางเรื่องสามารถกระทำได้ตามอำนาจของรัฐบาล เช่น การตราพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยตำรวจ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปภายในจังหวัดได้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด (กต.ตร.)ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 เพื่อดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางในมาตรา 258 นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาบุคคลผู้จะแต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการทุกคน ต้องเป็นผู้ที่เห็นและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากระบบงานตำรวจในปัจจุบัน รวมทั้งมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและแนวความคิดในการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจจังหวัดและการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศด้วย
องค์กรประชาชน 42 องค์กรตามรายนามท้ายจดหมายฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการปฏิรูปตำรวจตามแนวทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง