บรรยากาศการแข่งเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ ชิงถ้วยพระราชทานพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คึกคัก ประชาชนร่วมเชียร์ท่ามกลางฝนโปรยปราย ร่วมสืบสานประเพณีที่มีมากว่าร้อยปี
วันที่ 23 กันยายน 2565 ที่สนามน้ำลำปาว อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นางสาววิจิตรา ภูโคก นายก ทต.กมลาไสย หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น พร้อมด้วยประชาชน ร่วมกันเปิดงานแข่งเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทานพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงการจัดงานแข่งเรือยาวประเพณี ว่า เป็นความภาคภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ เนื่องด้วยการแข่งเรือยาวประเพณี มีการสืบสานมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว กับประเพณีการแข่งเรือที่เรียกว่า ส่วงเฮือ ตามวิถีชีวิตของชาวอำเภอกมลาไสย ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำปาว และมีความผูกพันกับสายน้ำมาโดยตลอด
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ได้เริ่มต้นอีกครั้งหลังจากได้หยุดไป 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันได้เชิญเรือที่ชนะเลิศจากสนามต่างๆในภาคอีสานมาร่วมแข่งขันและมีการแข่งขันเรือยาวใหญ่ขนาด 55 ฝีพาย ซึ่งมีเรือชิงแชมป์ถ้วยพระราชทานจากลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ เรือเทพธรรมรัตน์ ไทยน้ำทิพย์ จ.ปทุมธานี เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง จังหวัดชลบุรี เรือเจ้าขุนเณรไทคัวยิม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเรือยาวกลางทั่วไป ขนาดไม่เกิน 40 ฝีพาย รวมทั้งยังได้อนุรักษ์การแข่งเรือยาวกลางท้องถิ่นขนาดไม่เกิน 40 ฝีพาย และเรือเล็กทั่วไปไม่เกิน 10 ฝีพาย ของชาวกาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมแข่งขัน
ทั้งนี้การแข่งเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในการรักถิ่นกำเนิด ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เสริมสร้างและพัฒนาประเพณีการแข่งเรือยาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอกมลาไสย และพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เสริมสร้างความสามัคคีที่ดีงามของคนในชุมชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคึกแม้จะมีฝนโปรยปรายมาตลอด มีประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมชมงานและร่วมเชียร์ให้กำลังใจแก่เรือที่ร่วมแข่งขันอย่างคักคั่ง โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 25 กันยายน 2565 และในวันสุดท้ายจะเป็นการแข่งรอบชิงชนะเลิศ ในประเภทเรือยาวใหญ่ทั่วไปไม่เกิน 55 ฝีพาย เรือยาวกลางทั่วไป และเรือยาวกลางท้องถิ่น
สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์รายงาน