ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
จับตา จุดเปลี่ยน หันใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง 62 ...? ส.ส.เขต 350 + ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 + ส.ส.พึงมี !!?
24 ก.ย. 2565

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 105 คน เข้าชื่อส่งผ่านมาทางประธานรัฐสภา

และกรณีสมาชิกวุฒิสภา 77 คน เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

ทั้ง 2 เรื่องจึงได้กลายเป็นปมปัญหาที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในทันที เหตุเพราะหากไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับกระบวนการเลือกตั้งตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่ถูกบัญญัติเปลี่ยนการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาใช้เป็นสองใบแทน และมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมที่ให้มี ส.ส.แบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ที่มีผลบังคับใช้ไปเรียบร้อยแล้ว ย่อมจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ นั่นคาดหมายได้ว่า คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นทั้ง 2 น่าจะเกิดขึ้นได้ราวๆ ปลายเดือนตุลาคม หรืออาจเลยไปถึงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ในขณะที่คาบเวลาการสิ้นสุดอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะหมดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566

ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญให้คำตอบว่า ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการเลือกตั้งภายหลังสิ้นอายุของสภาฯ ก็จะเดินหน้าไปตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาระบุวันหย่อนบัตรเลือกตั้งในเบื้องต้นไว้ คือในวันที่ 7 พฤษภาอง 2566

แต่หากเป็นตรงกันข้ามที่ร่าง พ.ร.ป.ไม่ว่าทั้งคู่หรือฉบับใดฉบับหนึ่งถูกชี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า พ.ร.ป.นั้นๆ จะต้องถูกส่งไปยังสภาฯ เพื่อการพิจารณาใหม่ ทำให้ถูกมองว่า คาบเวลาการพิจารณาที่จะประกาศใช้ได้นั้น จะทันต่ออายุของสภาในวันที่ 23 มีนาคม 2565 นี้หรือไม่ และทางออกของปมนี้อยู่ที่ไหน ..?

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหามิได้มีอยู่เพียงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถูกตั้งคำถามขึ้นเช่นเดียวกันว่า หากเกิดการยุบสภาฯ ขึ้นก่อน อะไรจะเกิดขึ้นบ้างและกระบวนการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร และพลันที่เลขาธิการ กกต.ออกมาระบุว่า กรณีเกิดการยุบสภาก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองเสร็จและยังไม่มีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องยึดกฎหมายฉบับเก่า ทำให้พรรคการเมืองจะต้องทำการเลือกตั้งขั้นต้นในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบเต็มรูปแบบ (ไพรมารี่โหวต) และมีสาขาพรรคการเมืองให้ครบทุกเขตการเลือกตั้งตามที่กฎหมายเดิมกำหนด

หรือบางฝ่ายมองไปว่า อุปสรรคทั้งปวงนี้จะส่งผลให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง จำต้องกลับไปใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ปี 2562 และย้อนกลับไปใช้ ส.ส. แบ่งเขต 350 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 พร้อมกับปมปัญหาเดิมที่เกี่ยวกับ ส.ส.พึงมี …!!?

ซึ่งไม่น่าจะเป็ไปได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ส.ส.ทั้งสภาฯ  500 คน มาจาก ส.ส.แบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน นั้น ได้ถูกแก้ไขและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว คือ ให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ปมปัญหาจึงอยู่ที่ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปแล้วนั่นเอง หรือเราจะวนกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาดังเดิมอีกครั้งหรือ ?

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...