บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าตอกย้ำความเป็นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เผยรายได้รวมไตรมาสแรกเติบโตถึง 12.8% หรือ 7,651 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมชูความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินการ (EBITDA margin) กว่า 27.9% หรือ 2,133 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้และกำไรของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการใหม่ ที่ใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2560 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 7,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 2,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 1,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิปรับปรุงส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจุดเด่นของผลประกอบการไตรมาสนี้ คือ EBITDA margin ของบริษัทที่สูงกว่า 27.9% โดยมีปัจจัยหลักของรายได้และกำไรจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น จำนวน 4 โรง ในปี 2559 ได้แก่ โรงไฟฟ้า บี.กริม บีไอพี เพาเวอร์ 2 (BIP2) ที่เริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 โรงไฟฟ้า บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ (สระแก้ว) 1 ที่เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2559 โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 (ABP5) ที่เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2559 และโรงไฟฟ้าบี.กริม เพาเวอร์ ดับบลิวเอชเอ 1 (BGWHA1) ที่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแต่ใช้เครื่องจักรที่มาจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลก ส่งผลให้ได้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมกันนี้ด้วยความสามารถของผู้บริหารและทีมงาน บริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างและการดำเนินงานให้ต่ำกว่างบประมาณที่กำหนด ส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน ไตรมาสเดียวกว่า 2,133 ล้านบาท เป็นกำไรช่วง 3 เดือนที่สูงสุดของบริษัทนับตั้งแต่เปิดดำเนินการมา
นางปรียนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้เดินตามแผนขยายการลงทุนให้ไปสู่เป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ที่บริษัทตั้งเป้าไว้ โดยได้ลงนามความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ China Energy Engineering Corporationซึ่งดำเนินธุรกิจด้านไฟฟ้ารายใหญ่อันดับต้นของประเทศจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Hybrid ที่จะได้ความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิต การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Poipet PPSEZ ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตในประเทศกัมพูชา และล่าสุดบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกในการเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ปี 2560 ถือเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นด้านศักยภาพการผลิตและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ (IPO) โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 716,900,000 หุ้น หรือประมาณ 27.5% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว มูลค่าที่ตราไว้ 2 บาทต่อหุ้น ตั้งเป้าระดมทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับความสนใจจากกองทุนต่างประเทศที่ขอเข้าร่วมเป็น Cornerstone Investor จำนวนมาก โดยเฉพาะจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการของธนาคารแล้ว ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถเสนอรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปได้เร็วๆ นี้