นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ Facebook ส่วนตัวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาความว่า กยศ. กับ วินัยของอนาคตชาติไทย
กองทุน กยศ. ตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2561 สามารถเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน โดยกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนปี 2564 กว่า 32,100 ล้านบาท ที่ผ่านมา มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,284,005ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท โดยมี ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้จำนวน 3,559,421 ราย ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น ปิดบัญชีแล้ว 1,660,129 ราย
ส่วนผู้กู้ยืมที่มีปัญหาในการชำระหนี้
กองทุนก็ได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนี้
* ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับจากเดิม 12%-18% เหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
* ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจาก 1% เหลือเพียง 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้
* ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว
* ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
* ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ให้ผู้กู้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี และมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน จากเดิมกำหนดผ่อนชำระเป็นรายปี ผ่อนไม่เกิน 15 ปี เป็นผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ผ่อนไม่เกิน 30 ปี
การช่วยผู้กู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องเป็นแนวทางที่ตรงกับสาเหตุของปัญหา จึงจะแก้ปัญหาให้กับตัวบุคคลและตัวกองทุนได้ ในเมื่อทั้งเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ได้ถูกลดมาต่ำมากจนไม่ใช่สาเหตุของปัญหาแล้ว จำเป็นไหมที่จะต้องลดให้เหลือศูนย์
กองทุนมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี มีรายรับจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยราว 6,000 ล้านบาทต่อปี ตรงนี้ที่ทำให้สามารถเป็นกองทุนหมุนเวียนโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนสูงไปไหมเทียบกับประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา หากเห็นว่า ที่ผ่านมา รายรับส่วนนี้ สูงไปกว่าค่าใช้จ่าย ก็ไปหาแนวทางลดลงให้คงเหลือเท่าที่จำเป็นสำหรับให้กองทุนพึ่งตัวเองได้
นอกเหนือจากประเด็นของการสนับสนุนให้กองทุนยังคงความเป็นกองทุนหมุนเวียนได้ โดยไม่ต้องพึ่งหางบประมาณแผ่นดิน หากกองทุนต้องกลับมาพึ่งงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งก็คือภาษีจากประชาชน สิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ คือ การสร้างวินัยทางการเงินของนักศึกษาที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป
ร่าง พ.ร.บ. กยศ. ยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ที่คนส่วนมากยังสนใจตรงแค่ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะเป็นเท่าไร ทั้งที่ประเด็นนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากลไกการบริหารจัดการของกองทุน และสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ต้องร่วมกันส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้อนาคตของชาติไทยว่า “มีหนี้ ต้องจ่าย ถ้าจ่ายไม่ได้ ผู้กู้และกองทุนต้องรู้ว่าเพราะอะไร และต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน”
นโยบายใดก็ดีที่ออกมา ต้องไม่สร้างอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) ที่เอื้อให้คนอยากผิดวินัย ตรงนี้สำคัญที่สุดที่อยากจะฝากวุฒิสภาและพวกเราทุกคนให้คำนึงถึง