ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กรมทะเล เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี
04 ต.ค. 2565

     นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากนายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ว่า  ได้รับแจ้งจากเพจนิราศเมืองแกลง ว่าพบปรากฏการณ์น้ำทะเลมีสีเขียว บริเวณ ชายหาดแหลมแม่พิมพ์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งตนไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ลงพื้นที่ เพื่อเร่งติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล จากการสำรวจบริเวณชายหาดแหลมแม่พิมพ์ เบื้องต้นได้พบน้ำทะเลมีสีเขียวเข้มตลอดทั้งหาดจริง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และส่งกลิ่นเหม็นคาวไปทั่วบริเวณชายหาด เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณโดยรอบไม่พบสัตว์ทะเลหายากหรือสัตว์น้ำเกยตื้นตาย จากนั้นจึงทำการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณหาดแหลมแม่พิมพ์ ทำการตรวจสอบพบว่าคุณภาพน้ำทั่วไป ปรากฏว่าผลของน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ พร้อมกันนี้ได้สอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทราบว่าน้ำทะเลเริ่มมีสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยคาดว่าอาจเกิดขึ้นจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่สร้างสารชีวพิษ และมักเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก
     นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี พี่น้องชุมชนชายฝั่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติสรรสร้างขึ้นมา แต่ในมุมมองของนักวิชาการยังคงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นจากธรรมชาติเท่านั้น แต่กิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี โดยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพวกสาหร่ายเซลล์เดียว อย่างเช่น การปล่อยน้ำเสียจากการทำเกษตรกรรม หรือน้ำจากการซักล้างด้วยผงซักฟอกลงในแหล่งน้ำต่าง ๆ ส่งผลให้น้ำเสียไหลลงสู่ทะเล เพราะในน้ำเสียเหล่านี้อุดมไปด้วยฟอสฟอรัสกับไนโตรเจนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายเซลล์เดียว จึงทำให้เกิดการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
      ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงกำชับให้กรม ทช. ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้หน่วยงาน ทช. ทุกพื้นที่ชายฝั่งทะเลเฝ้าระวัง เพราะช่วงนี้เป็นหน้ามรสุมอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์กระจายตัวของแพลงก์ตอนทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศทางทะเล พร้อมกับให้ ทช. ประสานงานไปยังจังหวัดและท้องถิ่นให้รับทราบ เพื่อจะได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกมิติ รวมถึงให้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการวิจัย การฝึกอบรม และการติดตามตรวจสอบ อีกทั้งการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลได้มีส่วนร่วมทำหน้าที่สนับสนุนอีกหนึ่งแรงในการดูแลท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ทุกคนต้องร่วมใจกันปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรเหล่านี้ให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป "นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย"

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...