จังหวัดสระบุรี เตรียมจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะมหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งจังหวัดสระบุรี 11 ตุลาคมนี้
จังหวัดสระบุรีร่วมกับ วัดพระพุทธฉาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมร่วมกันจัดงานมหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี ประจำปี 2565 ณ วัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล จังหวัดสระบุรี ในวันอังคาร ที่ 11 ตุลาคม 2565เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่คู่จังหวัดสระบุรี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีซึ่งมีมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนจะได้ปลูกฝัง ความรัก ความกตัญญู ต่อพ่อแม่ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่พระองค์เสด็จจำพรรษาในเทวโลกชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมปิฎก เพื่อตอบแทนคุณของพุทธมารดา
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระชนมายุอยู่นั้น ทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกลับมายังมนุษยโลกที่เมืองสังกัสคีรี ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ในวันนั้นท่านได้กล่าวว่าเป็นวันเปิดโลก ทำให้โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรกต่างเห็นกันและกัน ประชาชนที่มาจำนวนมากที่มาเฝ้ารอเสด็จต่าง ปารถนาใส่บาตรพระพุทธองค์ โดยประชาชนที่อยู่ห่างออกไปไม่สามารถจะใส่บาตรได้ถึง จึงใช่วิธีการโยนอาหารของตนลงในบาตรของพระพุทธเจ้า และพระสาวก โดยอาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์
ซึ่งทางจังหวัดสระบุรีไดจัดมีการแถลงข่าวขึ้นโดยมี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พระราชธีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย รองเจ้าคณะภาค 2 นางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม วัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริการส่วนจังหวัดสระบุรี นายศราวุธ สุวรรณจูฑะนายอำเภอเมืองสระบุรี ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน
นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้กล่าวขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านมาร่วมบุญเดือนสิบเอ็ดของจังหวัดสระบุรี “งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน” ในวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ณ วัดพระพุทธฉาย นอกจากได้ร่วมสืบสานประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ท่านจะได้ไปสักการะพระพุทธฉาย นมัสการรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา มาชมพระปรมาภิไธยของพระราชวงศ์ 12 พระองค์ที่เคยเดินทางมาวัดพระพุทธฉายด้วย และขอเชิญชวนท่านสนับสนุนสินค้าของชุมชนในจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดด้วย
สำหรับไฮไลท์ภายในงาน ทุกท่านจะได้ชมขบวนแห่ข้าวต้มลูกโยน และขบวนการแสดงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม และชมการรำวงในบทเพลงรำวงสระบุรีที่ใช้คนมากที่สุด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การตักบาตรข้ามต้มลูกโยนซึ่งมีการจำลองการเสด็จลงมาจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมมาพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงส์เพื่อลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อโปรดสัตว์ และมนุษย์โลก โดยมีนางฟ้า นางสวรรค์ เทวดา เสด็จร่วมขบวน โดยในระหว่างขบวนแห่มีชาวบ้านรอใส่บาตรด้วยข้าวต้มลูกโยน ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้แก่พระภิกษุ-สามเณร และภายในงานยังมีกลุ่มแม่บ้านสาธิตวิธีการทำข้าวต้มลูกโยนให้แก่นักท่องเที่ยวได้ชม และยังสามารถเดินทางเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระพุทธฉายเพียง 1 กิโลเมตร ช่วงปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวนิยมมากางเต็นท์สูดบรรยากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย แวดล้อมไปด้วยเสียงจากธรรมชาติ
วัดพระพุทธฉายได้ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีใส่บาตรข้าวต้มหาง หรือใส่บาตรข้าวต้มลูกโยน โดยพระราชธีราภรณ์ รองเจ้าคณะภาค 2และเจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย กว่า 10 ปีมาแล้ว และปฏิบัติต่อเนื่องมา ทำให้งานประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนของวัดพระพุทธฉาย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ เนื่องจากมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมาร่วมพิธีนับหมื่นคน สำหรับการทำ"ข้าวต้มลูกโยน" หรือ "ข้าวต้มหาง" ลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่มีขนาดเล็กกว่าอีกทั้งในรูปแบบการห่อมีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยจะไว้หางยาวเพื่อความสะดวกในการใส่บาตร ซึ่งผู้ที่ทำได้เล่าถ่ายทอด ถึงการทำข้าวต้มลูกโยนว่า ข้าวต้มลูกโยน หรือ ข้าวต้มหาง ทำมาจากข้าวเหนียว ซึ่งจะนำมาผัดกับกะทิคล้ายกับการทำข้าวต้ม มัดแต่จะมีขนาดเล็กกว่า ข้าวต้มลูกโยนที่นี่จะใส่กล้วยถั่วดำและใส่กล้วยสุก แล้วนำมาห่อซึ่งรูปแบบการห่อจะนำใบเตยทำเป็นกรวยม้วนพันไปจนหุ้มข้าวเหนียวโดยทิ้งชายไว้ จากนั้นจะมัดด้วยไม้กลัดก่อนนำไปนึ่งให้สุกอีกประมาณ 7 ถึง 10 นาที อีกครั้ง
ข้าวต้มลูกโยนในวิธีการทำอาจคล้ายคลึงกันใช้ใบไม้ได้หลายชนิดในการห่ออย่างที่นี่ใช้ใบเตยซึ่งเมื่อนำไปนึ่งก็จะมีกลิ่นหอมและเมือสุกแล้วเมื่อแกะออกจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ ทำให้น่ารับประทาน และสามารถเก็บไว้ได้นานกว่า 3 วันในอุณหภูมิปกติ อีกทั้งการทำข้าวต้มลูกโยนยังถ่ายทอดความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจในการสืบรักษาประเพณีของชุมชน” "การทำข้าวต้มลูกโยน หรือ ข้าวต้มหาง"จะนิยมทำขึ้นในวันออกพรรษาประเพณีนี้ ชาวบ้านปฏิบัติสืบสานมาอย่างต่อเนื่องอีกทั้งเป็นประเพณีเก่าแก่ของที่นี่ซึ่งทุกบ้านจะทำข้าวต้มลูกโยนเพื่อนำไปทำบุญตักบาตรเทโวฯ สำหรับท่านที่จะมาร่วมงานสามารถหาซื้อข้าวต้มลูกโยน ได้บริเวณภายในวัด โดยทางกลุ่มแม่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่จะนำมาจำหน่าย
ทีมข่าวสระบุรี