นายณัฐวุฒิ สังข์สุข นายอำเภอปะเหลียนกล่าวว่าได้ร่วมกับชาวบ้านตำบลปะเหลียนกว่า 60 คน ร่วมกันปล่อยปลาซิวหางดอกจำนวน 3,000 ตัว ลงสู่ลำธารที่ไหลลงมาจากน้ำตกพ่าน และเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของปลาซิวหางดอก ที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุมในอดีตสำหรับปลาซิวหางดอก เป็นปลาน้ำจืดธรรมชาติของไทย ที่มีความสวยงาม ลำตัวยาวค่อนข้างกลม หัวขนาดเล็ก ตาโตสวย ครีบหลังมีสีเหลืองอ่อน ครีบหางเว้าลึกเป็นแฉกสีส้มแต้มสีเหลือง ชอบอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ 30-100 ตัว เป็นปลาซิวที่ค่อนข้างใหญ่ ชอบอยู่ในลำธาร น้ำตก ตั้งแต่บนเขาถึงที่ราบต่ำ ตลอดจนลำคลองที่มีน้ำไหลผ่านมาจากภูเขา
จังหวัดตรังพบปลาซิวหางดอกได้เฉพาะที่น้ำตกพ่าน และน้ำตกโตนเต๊ะ อ.ปะเหลียนเพียง 2 แหล่งเท่านั้น เป็นปลากินแมลงน้ำและพืชน้ำเป็นอาหาร ในอดีตพบปลาซิวหางดอกมาก ประชาชนนิยมส่งขายเป็นปลาสวยงาม และบางคนนำมาประกอบอาหาร
แต่ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยของปลาถูกทำลาย การทำประมงด้วยวิธีผิดกฎหมาย ทำให้ปลาซิวหางดอกลดจำนวนลงอย่างมาก หรือบางแหล่งน้ำไม่พบปลาซิวหางดอกเลย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง จึงได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาซิวหางดอกจากแหล่งน้ำในจังหวัดตรัง เพื่อมาเพาะขยายพันธุ์ โดยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม และอนุบาลจนได้ขนาด จึงได้นำลูกพันธุ์ปลาที่ศูนย์ ฯ เพาะพันธุ์ได้มาปล่อยสู่แหล่งน้ำเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ปลาซิวหางดอกได้ขยายพันธุ์ต่อไป และสามารถส่งขายเป็นปลาสวยงาม สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันปล่อยปลาสุลต่านหรือปลาบ้าจำนวน 20,000 ตัวลงสู่ลำธาร เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์สู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย
นางสุวรรณดี กล่าวว่า ปลาซิวหางดอกเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาเศรษฐกิจ โอกาสข้างหน้าถ้าเราไม่เพาะ ไม่ขยายพันธุ์โอกาสสูญพันธุ์ก็จะมีมาก เพราะหายากแล้ว เป็นปลาที่อยู่ต้นน้ำ น้ำใส ปล่อยที่บริเวณน้ำตกแบบนี้จะเหมาะสมแล้ว
ส่วนปลาสุลต่านเป็นปลาเศรษฐกิจ เป็นปลาที่มีรูปร่างสวยงาม ขนาดใหญ่ ถ้าเกิดเจริญเติบโตวางไข่ได้ ก็ขอฝากชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อให้เขาได้ขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต โดยเป็นปลากินพืช กินสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำ ก็จะเจริญเติบโตดีในธรรมชาติ โดยใช้เวลาเลี้ยง 2-3 เซนติเมตร ประมาณ 2 เดือน ก็สามารถขายเป็นปลาสวยงามได้