ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กอนช. เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่อง
07 ต.ค. 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณน้ำหลากทางตอนเหนือ ส่งผลให้คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรับน้ำเต็มศักยภาพ จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 49 หลังสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นวันนี้ (6 ต.ค.65) โดยน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้กรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ + 17.64 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 เมตร ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยากรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ + 17.60 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 - 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ประกอบกับ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ใกล้เคียงจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม จำเป็นต้องเฝ้าระวังผลกระทบตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท , อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี , อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง , คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร รวมถึง บริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , ปทุมธานี , นนทบุรี , กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 15 - 30 เซนติเมตร

ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้ง ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ สิ่งสำคัญต้องแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้าด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...