ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
ศาลแรงงานสั่งสมาคมสื่อฯ จ่ายเงินเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
07 ต.ค. 2565

            ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่  ร4175/2564 ระหว่าง นางสาวภาวิตา พิทักษ์วาทิน โจทก์ กับ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จำเลย   สืบเนื่องจากสมาคมฯได้มีหนังสือลงวันที่ 8 กันยายน 2564 บอกเลิกจ้างนางสาวภาวิตาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเพียงคนเดียวของสมาคมฯ  โดยอ้างเหตุว่าเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค - 19 ทำให้สมาคมฯปราศจากรายได้ในช่วงวิกฤติและมีความจำเป็นในการลดภาระของสมาคมฯ  จึงมีมติเลิกจ้างจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ  โดยระบุให้พ้นสภาพการจ้างนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ ( 8 กันยายน 2564)  เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย

            ก่อนจะมีหนังสือบอกเลิกจ้าง  นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2564  สมาคมฯได้ค้างจ่ายค่าจ้างและค่าประกันสังคมตามกำหนด   แม้เมื่อนางสาวภาวิตามีหนังสือทวงถามไปยัง            นายภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมฯซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2563แล้วแต่ทางสมาคมฯก็ยังเพิกเฉย

            การที่สมาคมฯมีหนังสือเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นโดยไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย  ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถือเป็นการจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุอันสมควร  เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ทำให้นางสาวภาวิตาได้รับความเดือดร้อน  ต้องตกงานขาดรายได้ประจำในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวรวมถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาที่แก่ชรา  ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและอายุมาก  ยากแก่การหางานใหม่  จึงฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เพื่อขอความยุติธรรม

           คดีนี้ศาลได้มีการนัดไกล่เกลี่ยคู่ความแต่สมาคมฯไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย  ศาลได้นัดสืบพยานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 และนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 30 กันยายน 2565  โดยสรุปว่า  ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง  ให้จ่ายค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2564 เดือนละ 25,000 บาท   งวดวันที่ 1-8 กันยายน 2564 เป็นเงินจำนวน 6,666.67 บาท  ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวน 44,166.67 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดของเงินแต่ละจำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          กรณีดังกล่าวนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน 3 สมัยกล่าวว่า  ตนได้พ้นวาระตั้งแต่ปี 2563 โดยมีนายภูวนารถ ณ สงขลา เป็นนายกสมาคม  นายพิพัฒน์ นวสวัสดิ์ เป็นเหรัญญิก  แต่สมาชิกในที่ประชุมใหญ่ก็ยังให้เกียรติเลือกตนเป็นกรรมการร่วมจึงรับรู้ถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้

          ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่นายพิพัฒน์ ซึ่งเป็นเหรัญญิกไม่ยอมเซ็นเช็คจ่ายเงินเดือนแก่นางสาวภาวิตา ต่อเนื่อง 3 เดือน ด้วยข้ออ้างว่าไม่ปฏิบัติงานตามคำสั่งให้สำเร็จ  ทั้งๆที่มีการตั้งเรื่องเบิกจ่ายเงินเดือนถูกต้องและกรรมการผู้มีอำนาจร่วมได้เซ็นจ่ายแล้ว  จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานกลางในต้นปี 2564 แต่มีการไกล่เกลี่ยยอมชำระค่าจ้างคงค้างนางสาวภาวิตาจึงได้ถอนฟ้อง 

          แต่เรื่องกลับไม่จบ  หลังจากนั้นเหรัญญิกก็ยังไม่ยอมจ่ายเงินเดือนต่อเนื่อง 6 เดือน จนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564  เหรัญญิกได้เสนอวาระต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมให้เลิกจ้างนางสาวภาวิตา  มติที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย  โดยให้เหตุผลว่าเกิดการระบาดโควิด-19  สมาคมฯไม่มีรายได้  สมาคมฯจำเป็นต้องเลิกจ้างโดยจะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน  แต่นายกสมาคมฯและเหรัญญิกไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมจนเกิดการฟ้องร้องครั้งที่สองดังกล่าว

         “นายกสมาคมและเหรัญญิกต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งชื่อเสียงของสมาคมฯและเงินค่าความเสียหายกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอย่างไม่สมควร  เพราะมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้เลิกจ้างโดยจ่ายตามกฎหมายแรงงาน  สมาคมฯมีเงินในบัญชีอยู่มากกว่า 1 ล้านบาทแต่ไม่ยอมจ่าย  ประวิงเวลาจนเรื่องถึงศาลแรงงานให้เป็นที่น่าอับอาย ” นายชัยวัฒน์กล่าว     

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...