เขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์กักเก็บน้ำอย่างเต็มระบบ จัดจราจรน้ำช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้าย และแม่น้ำชี หลังมวลน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นกำลังไหลมาถึงพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังได้รับอิทธิพลจากพายุ “โนรู”เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน ซึ่งส่งผลให้อ่างเก็บน้ำต่างๆมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เขื่อนลำปาว และแม่น้ำชี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะการรับมวลน้ำที่จะไหลมาจาก จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ล่าสุดเพิ่มการระบายน้ำเป็น 50 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
ล่าสุดนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนลำปาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมกับดำเนินการกักเก็บน้ำอย่างเต็มระบบ เพื่อเป็นการจัดจราจรน้ำไม่ให้ไม่ซ้ำเติมพื้นที่ท้ายน้ำ และรองรับน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งให้มากที่สุด
นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ภายหลังจากอิทธิพลพายุโนรู มีฝนตกในหลายพื้นที่เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,802 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 91 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังรับได้อีกกว่า 180 ล้านลบ.ม. ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเริ่มลดลงตามลำดับเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 15-20 ล้าน ลบ.ม.และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเนื่องจากฝนในพื้นที่เริ่มตกน้อยลง
นายสำรวย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเขื่อนลำปาวได้ดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ โดยเฉพาะในช่วงมรสุมและพายุที่มีฝนตกในพื้นที่ และขณะนี้ได้ทำการกักเก็บอย่างเต็มระบบ เพื่อไม่ให้น้ำระบายไปซ้ำเติมพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และอ.ร่องคำ หลังมีมวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นกำลังไหลมาถึงพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นการกักเก็บรองรับน้ำไว้ใน เพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามทางโครงการฯยังคงส่งน้ำให้กับพื้นการเกษตรเพาะปลูกพืช การประมง รวมพื้นที่ 305,315 ไร่ และการอุปโภค บริโภคเฉลี่ยวันละ 2.3 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการส่งน้ำ เพื่อล่อเลี้ยงสัตว์ รักษาลำน้ำด้านท้าย และรักษาระบบนิเวศวันละ 3 แสน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารผันน้ำอย่างต่อเนื่อง และจัดเตรียมเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ และเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยอีกด้วย
สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์รายงาน