นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงานเทศกาลน่าน ตอน Creative Space พร้อมด้วย รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรหน่วยงานภาคเอกชน เครือข่ายศิลปินร่วมสมัยจังหวัดน่าน โดยนายวิบูรณ์ได้กล่าวว่า งานเทศกาลน่าน เป็นของคนน่าน เพื่อคนน่าน โดยคนน่าน มีความเป็นเจ้าบ้านที่สามารถให้ทุกๆ คนเห็นถึงตัวตนของคนน่านจริงๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ
โดยจะเน้นงานวัฒนธรรมของน่าน ที่กระจัดกระจายเสมือนน่านไม่มีอะไร ให้เห็นชัดขึ้นว่าน่านเป็นเมืองที่มีเทศกาล ที่สร้างสรรค์โดยชุมชนคนน่านที่มีความเข้มแข็งยึดโยงกับงานประเพณีของชุมชนที่หลากหลาย ให้เห็นความเป็นพหุวัฒนธรรมของน่าน และส่งเสริมฐานประเพณีนิยมของน่านให้ขยายขอบเขตของเวลาเข้าสู่ความร่วมสมัย โดยยังคงรักษาพื้นฐานเดิมของตนเองไว้ เป็นการหลอมรวมคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกันได้ส่งเสริมพื้นที่เมืองเก่าของน่าน ไม่ว่าจะเป็นที่อำเภอปัว อำเภอเวียงสา อำเภอนาหมื่น และอำเภอเมืองน่าน ให้มีชีวิตที่คนน่านภูมิใจ และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปสร้างสรรค์เพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมืองเก่าที่ดำรงอยู่ร่วมกับความใหม่ โดยน่านจะต้องดำรงอยู่คู่กับความร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี การแสดง ที่จะแทรกเข้าไปอยู่กับเทศกาลและพื้นที่ชุมชนอย่างผสมกลมกลืนเป็นการนำผู้ชมศิลปะร่วมสมัยเข้าหาชุมชน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน
นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า งานเทศการน่าน ได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน มูลนิธิน่านศึกษา และกลุ่มสล่ากึ๊ด ร่วมกันพัฒนาศักยภาพพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในย่านเมืองเก่าน่าน พื้นที่ใจกลางเมือง ที่อบอวลไปด้วยความงดงามด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และวิถีแบบล้านนา ปลุกเมืองน่านให้กลับมามีชีวิตชีวา ด้วยการหลอมรวมคนรุ่นเก่าและส่งเสริมคนสร้างสรรค์รุ่นใหม่ชาวน่าน เพื่อร่วมกันต่อยอด อัตลักษณ์ สินทรัพย์และวัฒนธรรมให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในพื้นที่พลิกฟื้นอาคารเก่าทรงคุณค่า “คุ้มเจ้าเทพมาลา” สู่พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่
การทดลองใช้งานพื้นที่และอาคารทรงคุณค่า “คุ้มเจ้าเทพมาลา” อาคารอนุรักษ์เก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ได้เปิดให้ใช้งานเป็นครั้งแรก ผ่านการจัดกิจกรรมและการจัดแสดงผลงาน ที่จะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและสร้างเสริมพลังความคิดให้กับทุกคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักคิดนักสร้างสรรค์ ศิลปิน ผู้สูงอายุ หรือคนทั่วไป ให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดสินทรัพย์อันมีค่า เพื่อให้น่านเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คน ไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ที่สามารถผสมผสานความดั้งเดิมและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคตได้อย่างกลมกลืน ย่านเมืองเก่าน่าน พิพิธภัณฑ์ชีวิตวิถีน่าน สมดุลยุคใหม่ในวิถีดั้งเดิม
นายอินทพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ย่านเมืองเก่าน่าน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองของจังหวัด มีความครบสมบูรณ์ทางด้านกายภาพของพื้นที่และมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นย่านแห่งการผสมผสานระหว่างพื้นที่เมืองสมัยใหม่กับพื้นที่เมืองเก่า มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนา ที่เป็นที่รู้จักหลายแห่ง ได้แก่ วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน และถนนคนเดินข่วงเมืองน่าน พร้อมกันนั้นก็ยังมีร้านรวงคาเฟ่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ย่านแห่งนี้ที่มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทำให้เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมริมน้ำรูปแบบต่างๆ ของคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ให้ได้มาเที่ยวชม แต่ในขณะเดียวกัน สินทรัพย์ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยการรวมกลุ่มกันของคนในพื้นที่และจังหวัดต่อยอดความเป็นไปได้ใหม่ๆ
การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบของน่าน มุ่งหวังให้เกิดการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บ่มเพาะศักยภาพ ทักษะ ที่นำไปสู่แนวทางและโอกาสใหม่ในการสื่อสารความเป็นน่าน อัตลักษณ์ท้องถิ่น และสร้างกลุ่มบุคลากรสร้างสรรค์ โดยให้พื้นที่เชื่อมโยงและบูรณาการทำงานระหว่างกลุ่มคนสร้างสรรค์รุ่นใหม่ กับหน่วยงานเอกชน ชุมชน และหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ได้ร่วมกันเผยแพร่และต่อยอดต้นทุนวัฒธรรม โดยทดลองพัฒนากิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ที่ประยุกต์วัตถุดิบท้องถิ่น งานคราฟต์และภูมิปัญญาเดิมในมุมมองใหม่ให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน ทดลองใช้ประโยชน์อาคารอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโบราณจำนวนมากในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ ดึงดูดคนสร้างสรรค์เข้ามารวมกันทำงานพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์พื้นถิ่นอย่างต่อเนื่อง นายอินทพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย.