มูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก ร่วมกับหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท.สผ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอรี่ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เปิดโครงการอบรม เยาวชน สื่อสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ “Idea Media” ระว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมฟลอร่า เมย์ รีสอร์ท อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมีเยาวชนในพื้นที่ จำนวน 33 คน ที่เข้าร่วม
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานเปิดการอบรม กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนมาจากพื้นที่อื่นและได้มีโอกาศเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่สงขลา เมื่อมาอยู่สงขลาแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้ ที่ได้พบเห็นคือสงขลาเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่คิดว่า คน 80-90% ในประเทศไม่เคยรู้ในประวัติศาสตร์ของสงขลา ไม่เคยรู้ในความสำคัญของความเป็นหัวเมืองของสงขลา
สงขลามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเป็นเมืองเก่า ความเป็นชุมชนที่มีการผสมผสานระหว่างไทย-พุทธ ชาวจีน ที่มีความผสมผสานแสดงออกถึง อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่งมีความเก่าแก่ เป็นเอกลักษณ์ เราอยู่ในพื้นที่อาจจะเห็นมาตลอด แต่ว่าคนที่มาจากที่อื่น เมื่อมาเห็นแล้ว เขาตื่นตาตื่นใจ สิ่งเหล่านี้มันผสมผสานกัน บวกกับความเป็นประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สงขลามีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น จนภาคประชาสังคมมีความคิดว่า เราควรจะผลักดันให้สงขลาก้าวไปสู่ความเป็นมรดกโลก สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนให้พวกเราได้มีความภาคภูมิใจ เห็นแล้วมีความภูมิใจ และก็เราจะได้ถ่ายทอดเรื่องนี้ต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้รับรู้และภูมิใจเหมือนที่เราภูมิใจ
“ผมยินดีที่โครงการได้จัดอบรมน้อง ๆ ให้สามารถที่จะสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของพื้นที่เราออกไปสู่สาธารณะ ให้มีความเผยแพร่ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรามีสื่อ ทุกคนมีทีวีอยู่ในมือ ทุกคนเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หมดเลย อยู่ที่เราจะจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบไหน บางคนสร้างคลิปแค่ไม่กี่นาที ใน TikTok มีคนเข้าดูเป็นล้าน ถ้าเราใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ จะมีผลอย่างมหาศาลต่อการยกระดับของสงขลาเข้าไปสู่ความสนใจของคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่สายตาชาวโลก ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก พยายามที่จะให้สงขลามีความเป็นมรดกโลก ทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และความผสมผสาน
“ถามว่า มรดกโลกมาแล้วกี่แห่ง ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดประมาณ 1,100 กว่าแห่ง ประมาณ 800 แห่ง เกี่ยวกับวัฒนธรรม และประมาณ 200 กว่าแห่งเกี่ยวกับธรรมชาติ ในส่วนของเรา ที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เรามี 3 แห่ง คือ สุโขทัย อยุธยา บ้านเชียง และอีก 3 แห่งเป็นมรดกทางธรรมชาติ ก็จะมีทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง แถวอุทัยธานี ภาคกลาง แล้วก็มีเขาใหญ่ ป่าดงพญาเย็น แล้วก็อีกแห่งป่าแก่งกระจาน เราก็หวังว่าอีกไม่นาน สงขลาจะเป็นแห่งที่ 7 ของประเทศไทย”
แต่มันไม่ใช่ว่า เราเสนอ แล้วเขาจะให้ เพราะมีตัวชี้วัด มีหลักเกณฑ์อะไรต่าง ๆ มากมาย แต่หนึ่งในนั้นก็คือว่า เราต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เราก่อน ใกล้ ๆ บ้านเราก็มีของปีนัง ประเทศมาเลเซีย บางอย่างที่ปีนังไม่มี ที่สงขลามี แต่บางอย่างที่สงขลาไม่มี แต่ปีนังมี แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องมาช่วยกันสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะ ให้กับสังคมไทยและสังคมโลกให้ได้ โดยอาศัยน้อง ๆ รุ่นใหม่ทั้งหลายได้ช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ถึงแม้เราจะไม่ได้ไปสู่มรดกโลกในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างน้อย ๆ ก็ได้ทำให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่า สงขลามีดีอะไร เพื่อนำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของเมืองสงขลา นำไปสู่เรื่องของการท่องเที่ยว และอื่นๆ
“เราต้องเอาสิ่งดี ๆ ที่บรรพชนของเราได้สร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานอาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็ดี ความผูกพัน ความสามัคคีกลมเกลียวก็ดี สิ่งเหล่านี้มันเป็นจุดเด่นของสังคมบ้านเรา นำสิ่งเหล่านี้เผยแพร่ไป แล้วก็ต้องสร้างให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป เขามีความเข้าใจเห็นถึงจุดเด่น เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของความเป็นสงขลาให้มากขึ้น ในอนาคตเราจะเดินไปถึงมรดกโลกอย่างแน่นอน” นายจารุวัฒน์ กล่าว
ด้านนายสนธยา แก้วขำ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ กล่าวว่า การจะนำสงขลาจะไปสู่มรดกโลก เราจะต้องมาคิดว่า ในฐานะที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถ้าเราจะทำสื่อ เราจะทำอย่างไร จะทำในแง่มุมไหนที่เกี่ยวข้องกับสงขลาไปสู่มรดกโลก เราอย่าคิดแต่ว่า เราทำเพื่อให้เราดูอย่างเดียว เราต้องคิดว่า เราทำให้ใครดู นี่คือสิ่งสำคัญ ซึ่งการคิดให้เยอะ เช่น ต้องตัดสินใจว่า เราจะทำในแง่มุมประวัติศาสตร์ จะทำในแง่มุมการมีส่วนร่วม จะทำในแง่มุมของความแตกต่างของสงขลามรดกโลก มันแตกต่างกับเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ อย่างไร หรือว่ามันแตกต่างจากนานานาชาติที่มันเป็นมรดกโลกไปแล้วอย่างไร
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องไปหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือชาวบ้าน เพราะว่า คันธนูมันจะยิงไปไกลได้แค่ไหน มันสำคัญว่า เราจะง้างคันธนูใส่ไปข้างหลังมากเท่าไหร่ ถ้าเรามีข้อมูลมาก เราก็จะส่งประเด็นของเราไปได้ไกล เราต้องคิดว่า การนำเสนอ 3 นาที เราจะวางเรื่องอย่างไร เรานำเสนอเอง พูดคนเดียว หรือจะเอานักวิชาการ พ่อค้าแม่ค้า หรือว่าคนที่เป็นผู้ที่มีความรู้ในชุมชนมานำเสนอ มีเสียงสัมภาษณ์ หรือเสียงคนที่จะเล่าเรื่อง สุดท้ายก็คือ ภาพที่จะเกี่ยวข้องกับสงขลามรดกโลก มันขับเคลื่อนไปตรงไหน ถึงไหนแล้ว การขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร มันโดนใจไหม มันปังไหม ซึ่งการทำคลิปไม่มีผิด ไม่มีถูก ต้องฝึกฝน สร้างประสบการณ์ค่อยๆ ไต่ระดับ ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองไป” นายสนธยา กล่าว