กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 3 ฉบับ ปรับปรุงข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง สารสกัด CBD มีผลบังคับ 22 ต.ค.65
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ. 2522 รวม 3 ฉบับ เพื่อเป็นการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ โดยทั้ง 3 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 65 และมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ หรือตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 65 เป็นต้นไป
“รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนากัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดได้กฎหมายกำกับเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างตรงวัตถุประสงค์ โดยส่วนของการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารก็เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จึงได้มีการปรับปรุงข้อกำหนด เพื่อให้มีความเหมาะสมและดูแลผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าอย่างปลอดภัยด้วย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ฉบับแรกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 438 พ.ศ.2565 เรื่องผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่427 พ.ศ. 2564) มีสาระสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง และกำหนดให้ผู้ผลิตซึ่งได้รับอนุญาตอยู่ก่อนหน้านี้ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศฉบับใหม่นี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับด้วย
ทั้งนี้ ประกาศฯฉบับที่ 438 ได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของคุณภาพหรือมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง โดยได้กำหนดให้ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค หรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้ปรุง หรือผู้จำหน่ายอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์ปรุงรส, ซอส, น้ำปลาผสมชนิดเหลวและแห้ง น้ำเกลือปรุงรส ที่ต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(THC) ไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกินร้อยละ 0.0028 ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ต้องมีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรรม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ เป็นต้น
นอกจากนี้ได้ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดในส่วนการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ให้มีความชัดเจน เช่น การมีข้อความระบุว่าไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย รวมถึงกรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความที่ชัดเจนว่า ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ถัดมาเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 437 พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่425 พ.ศ. 2564) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงคุณภาพหรือมาตรฐาน โดยการยกเลิกข้อจำกัดปริมาณสาร CBD ในเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหาร น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนเมล็ดกัญชง
พร้อมกับปรับปรุงบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง เช่น ผลิตภัณฑ์ธัญชาติสำหรับอาหารเช้า, ขนมอบ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มธัญชาติ ยกเว้น ชา กาแฟ ชาสมุนไพร, ขนมขบเคี้ยว โดยยกเลิกการควบคุมปริมาณสาร CBD แต่ยังคงการควบคุมปริมาณสาร THC ตามประกาศฯ ฉบับที่ 425 พ.ศ. 2564
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ฉบับที่3 เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ. 2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่429 พ.ศ. 2564) โดยได้เพิ่มข้อกำหนดให้สามารถนำสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้
“การออกประกาศเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 ฉบับ จะทำให้เกิดความชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้บริโภคผลิตภัณฑ์สินค้าที่ปลอดภัย ขอให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงศึกษาข้อกำหนดใหม่และปฏิบัติตามโดยเข้มงวดต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว