นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) “Thailand-IVI Ratification Ceremony” พร้อมแสดงความยินดีเนื่องในวันครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้ง IVI และเข้าร่วมพิธีเปิด World Bio Summit 2022 ที่จัดขึ้นเพื่อระดมความร่วมมือจากนานาชาติในการสร้าง “อนาคตของวัคซีนและชีวอนามัย” นอกจากนี้ ยังได้หารือทวิภาคีระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
นายอนุทินกล่าวว่า สถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) เป็นองค์กรระดับโลกด้านวัคซีน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อพัฒนาและส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีการก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2555 ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 อย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีน ให้มีความพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ในนามของรัฐบาลไทยต้องขอขอบคุณ IVI ที่จัดพิธีแสดงสัตยาบันของการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี (State Party) ของ IVI ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน โดยปีนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติบรรลุข้อตกลงกับทาง IVI ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ จำนวน 3 คนไปเรียนรู้และทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนการประชุม World Bio Summit 2022 เป็นการประชุมที่รวบรวมผู้นำระดับโลกด้านวัคซีน เพื่อหารือเกี่ยวกับ “อนาคตของวัคซีนและชีวอนามัย” จากประสบการณ์และบทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมเสนอวิธีการเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อโรคติดเชื้อในอนาคต ซึ่งตนได้นำเสนอภายในงานว่า บทเรียนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 คือ ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย และต้องเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามต่อสุขภาพในอนาคต ซึ่งการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรค ยา และวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างมากจากนานาประเทศ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะพร้อมในทุกด้าน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ต้นแบบของไวรัสที่มาจากการระบาด และโอกาสในการทดลองวัคซีน ดังนั้น จึงต้องร่วมกันคิดหาวิธีวางแผนและบรรลุเป้าหมาย
“ประเทศไทยมีนโยบายการดูแลปกป้องประชากรทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยให้บริการวัคซีน ซึ่งทำได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 82 ของประชากร มีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่ รพ.สต.เพื่อให้เข้าถึงอย่างสะดวก และมีการวิจัยวัคซีนหลายโครงการ เช่น ChulaCov19, HexaPro - GPO Vac และวัคซีนใบยา เป็นต้น เชื่อว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของไทยที่จะแบ่งปันในการประชุมนี้ จะนำไปสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ใหม่หรือดีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงด้านสุขภาพร่วมกันทั่วโลก จึงจะสามารถป้องกันผู้คนทั่วโลกจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้”นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวอีกว่า ส่วนการหารือทวิภาคี มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นรากฐานของระบบสุขภาพ เพราะเราได้บทเรียนจากโควิด 19 คือ ระบบสุขภาพต้องยืดหยุ่นเพื่อรับมือต่อวิกฤตต่างๆ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการในช่วงโควิด เช่น หุ่นยนต์ การให้คำปรึกษาออนไลน์ และ Telemedicine การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ข้อตกลงฉบับนี้เป็นเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างยั่งยืน