อพท. จับมือกองทัพเรือสำรวจเส้นทางเดินเรือใบ เรือยอร์ช หวังกระตุ้นท่องเที่ยวทางทะเล รองรับนักแล่นเรือ กระเป๋าหนัก ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 4 เท่า
นายธิติ จันทร์แต่งผล รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) เปิดเผยว่า อพท.3 ได้ร่วมมือกับกองทัพเรือจัดทำเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยวเรือใบและเรือยอร์ช เส้นทางพัทยา-หัวหิน ตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเดินเรือใบและเรือยอร์ช เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวจากพัทยาไปหัวหินทางทะเลโดยเรือใบและเรือยอร์ช มีจุดประสงค์กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้ และจ้างแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าของเรือ ท่าเทียบเรือ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงจ้างแรงงานมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นตลาดระดับไฮเอนด์ที่มีการใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปประมาณ 4 เท่าตัว
โดยเส้นทางการเรือตัวอย่างจะเริ่มจากโอเชี่ยน มารีน่า-เกาะไผ่-หัวหิน-เกาะล้าน-โอเชี่ยน มารีน่า เป็นทริป 2 วัน 1 คืน ระยะทาง 120ไมล์ทะเล ระหว่างเดินทางนักท่องเที่ยวสามารถแวะท่องเที่ยวชายหาด ดำน้ำดูปะการัง เล่นสกี และซื้อของที่ระลึกได้ตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในพัทยา และหัวหิน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เข้าพัทยา และประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เส้นทางการเดินเรือที่นำเสนอนั้น ทางกองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว จึงนำเสนอให้เดินเรือในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเส้นทางนี้ ไม่ใช่แค่เส้นทางเดินเรือที่ดี สวยงามอย่างเดียว แต่ยังมีความปลอดภัยสูงด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อพท. ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น และสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการเรือ ท่าเทียบเรือ กัปตันเรือ ธุรกิจทัวร์ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการแล่นเรือ ซึ่งจะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเส้นทาง ให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย คาดว่าจะสรุปผลได้ในเร็วๆนี้ และจะจัดทำเป็นเอกสารประกอบการท่องเที่ยวด้วย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แบ่งกลุ่มตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชของไทย 1. ตลาดเรือยอร์ชในไทย ส่วนใหญ่เป็นเรือยอร์ชขนาดน้อยกว่า30 เมตร และแล่นท่องเที่ยวในฝั่งทะเลอันดามัน ในภูเก็ต กระบี่ โดยความน่าสนใจของตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชในไทย คือ การก่อให้เกิดเม็ดเงินไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลัก อย่างธุรกิจมารีน่า รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ และ 2. ตลาดเรือยอร์ชแล่นจากต่างประเทศเข้ามาไทย ในแต่ละปีมีเรือยอร์ชเข้ามาไทยจำนวนหลักพันลำ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น
โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นวดไทย สปา บริการทำความสะอาดเรือ บริการซ่อมบำรุงเรือ เป็นต้น ซึ่งประเมินว่า เม็ดเงินของตลาดท่องเที่ยวเรือยอร์ชของไทยในปีนี้ จะมีมูลค่าประมาณ 5,800 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดล่องเรือยอร์ชท่องเที่ยวในไทยมูลค่า 3,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบริการของธุรกิจมารีน่า ขณะที่ตลาดเรือยอร์ชแล่นจากต่างประเทศเข้ามาไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท ซึ่งการใช้จ่ายมีทั้งค่าบริการมารีน่าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น